กรมอนามัย คุมเข้ม “ร้านอาหาร”เตือน 6 ข้อที่ต้องทำหากนำ “กัญชา”มาประกอบอาหาร

เพจกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ข้อความว่า 6 ข้อที่ “ร้านอาหาร” ต้องทำ หากนำ “กัญชา” มาประกอบอาหารเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค พร้อมการ์ตูนประกอบ

288971796 330947635881072 3785444288753174554 n
6 ข้อกำหนดคุมเข้มร้านอาหาร

โดยมีเนื้อหาใจความ คือ สถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ “ใบกัญชา” เป็นส่วนประกอบของอาหาร ได้แก่

  1. จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้ “กัญชา”
  2. แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ “ใบกัญชา” ทั้งหมด
  3. แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ “ใบกัญชา” เป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร ตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ “ใบกัญชาสด” 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู
  1. แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มี “ใบกัญชา” เป็นส่วนประกอบ
  2. แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ “ใบกัญชา” ให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยงทราบ ด้วยการระบุข้อความ เช่น ห้ามเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี , สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร ไม่รับประทาน , ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) ควรระวังในการรับประทาน อาจทำให้ง่วงซึมได้, ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล

6.ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เมนูที่มีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ“กัญชา” ทางผู้จำหน่ายจะต้องมีการติดประกาศคำเตือนให้ผู้บริโภครับทราบรวมถึงข้อกำหนดในการห้ามจำหน่ายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม(กัญชา) เช่น ห้ามจำหน่ายในเด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร นอกจากนั้นต้องแจ้งรายละเอียดส่วนประกอบของเมนูเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของกัญชาให้ผู้บริโภครับทราบ

ทั้งนี้ หากพบผู้ประกอบการร้านค้าที่ไม่ฏิบัติตามข้อกำหนด ท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่สามารถเข้าไปตรวจสอบและดำเนินตามกฎหมายได้ แต่หากผู้บริโภค ยืนยันต้องการจะที่บริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของกัญชาแม้ทางร้านจะแจ้งให้ทราบแล้ว หากเกิดผลข้างเคียง ผู้บริโภคต้องรับผิดชอบด้วยตนเอง

ส่วน “สถานศึกษา” ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหว รมว.ศึกษาฯ ตรีนุช เทียนทอง ได้เซ็นประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ห้ามใช้-ขายอาหาร-เครื่องดื่มที่มี “กัญชา-กัญชง” ในสถานศึกษา โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยประกาศกระทรวงศึกษามี 6 ข้อ ดังนี้

ข้อ 1 สถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ” ห้ามใช้กัญชาหรือกัญชงกับนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากรโดยเด็ดขาด” เพราะอาจมีผลต่อการพัฒนาสมองของนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร

ข้อ 2 ห้ามมิให้นักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากรของสถานศึกษา ส่วนราชการหรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ใช้กัญชาหรือกัญชง เพื่อการนันทนาการใด ๆ เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น อาการทางจิต และระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย

ข้อ 3 ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ กำกับควบคุมร้านค้าที่จำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในบริเวณสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ให้งดจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการผสมส่วนใด ๆ ของกัญชาหรือกัญชง

อีกทั้งห้ามมิให้นักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร ของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ นำอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการผสมส่วนใด ๆ ของกัญชาหรือกัญชง เข้ามาบริโภคในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเด็ดขาด

ข้อ 4 ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรม การจัดการเรียนการสอน การฝึกอบรม หรือการผลิตสื่อนวัตกรรม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้กัญชาหรือกัญชง และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงที่เกินปริมาณตามที่ กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดให้แก่นักเรียน นักศึกษา บุคลากร ผู้ปกครองประชาชน หรือชุมชนที่อยู่หรืออาศัยบริเวณใกล้เคียงกับสถานศึกษาหรือหน่วยงาน เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากอันตรายของกัญชาหรือกัญชง

ข้อ 5 การใช้กัญชาหรือกัญชงเพื่อการรักษา ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ หรือการใช้กัญชาหรือกัญชงเพื่อการศึกษาวิจัย ต้องอยู่ภายใต้การกำกับ ควบคุม และดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ หรือหัวหน้าหน่วยงานนั้น ๆ

ข้อ 6 นอกจากแนวทางที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับนี้แล้ว ผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ หรือหัวหน้าหน่วยงาน ของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ อาจออกมาตรการหรือแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติม

เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดจากกัญชาหรือกัญชงได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ นั้น ๆ ได้