กลุ่มเกษตรกรปลูกพืชผัก “ทุ่งโป่ง” ตัวอย่างการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง จากพื้นที่กันดารสู่ความสำเร็จ

“กลุ่มเกษตรกรปลูกพืชผัก ต.ทุ่งโป่ง” อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เป็นตัวอย่างหนึ่งของการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งและประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ให้กับสมาชิกค่อนข้างดี เพราะวันนี้กลุ่มสามารถขายผลผลิตทางการเกษตรให้กับห้างโลตัส ขอนแก่น สัปดาห์ละ 2 วัน ส่งทุกวันพุธและวันเสาร์ โดยผลผลิตของกลุ่มเป็นพืชผักสวนครัวมากกว่า 10 ชนิด ผักที่มีจำนวนมากและส่งขายเป็นประจำ ได้แก่ ผักบุ้ง ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ฟักเขียว กะเพรา และโหระพา

ซึ่งกลุ่มเกษตรกรปลูกพืชผักทุ่งโป่งกลุ่มนี้ ถือเป็นแบบอย่างการพัฒนากลุ่มที่ดี เพราะมีการบริหารจัดการกลุ่มอย่างดี สมาชิกเข้าใจประโยชน์ของการรวมกลุ่ม รวมถึงการเชื่อมโยงกับตลาดภายนอก และยังสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ เนื่องจากเดิมนั้นเคยส่งผักขายเป็นกิโลกกรัม จึงไม่ได้ราคาดีนัก

แต่พอสร้างโรงคัดแยกและบรรจุที่ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice : มาตรฐานที่ดีในการผลิตอาหารที่ทำให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัย)

ที่สำคัญพืชผักของกลุ่มได้มาตรฐาน
GAP (Good Agriculture Practices : การผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม) มีการแพ็กอย่างถูกต้องตามหลักสุขลักษณะ ก็สามารถขายได้ในราคาที่ดีขึ้นด้วย

305194677 5537568206282355 4201335370531051495 n
กลุ่มเกษตรกรปลูกพืชผัก “ทุ่งโป่ง” ตัวอย่างการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง

ย้อนกลับไปก่อนปี 2558 ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เป็นพื้นที่กันดารขาดแคลนน้ำอย่างมาก เพราะเป็นดินปนทราย ดูดซับน้ำไม่ได้ อาศัยแต่น้ำฝนตามฤดูกาล แม้บางหมู่บ้านอยู่ใกล้กับเขื่อนอุบลรัตน์ แต่ก็ไม่สามารถใช้น้ำจากเขื่อนได้ ทั้งอีกยังเป็นจุดอับฝน ปลูกอะไรไม่ค่อยได้ นอกจากปลูกพืชไร่พวกอ้อยและมัน

กระทั่ง สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้เข้ามาช่วยบริหารจัดการน้ำ และเป็นพี่เลี้ยงด้านเกษตรกรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชาแก่ชาวบ้าน ภายใต้ “โครงการพัฒนาและจัดหาน้ำในตำบลทุ่งโป่ง” ด้วยการนำแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” มาใช้ตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ การพัฒนาอาชีพเกษตรกรสมัยใหม่ และการพัฒนากลุ่มการผลิต เพื่อรองรับระบบการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมให้นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ ปรากฎว่าเกษตรกรสามารถปลูกพืชผักสวนครัวได้ตลอดทั้งปี เพราะมีแหล่งน้ำพอเพียง

อย่างที่ นางปวีร์รักษ พลเยี่ยม ประธานกลุ่มเกษตรกรปลูกพืชผัก ต.ทุ่งโป่ง เล่าว่า กลุ่มก่อตั้งเมื่อปี 2562 มีสมาชิก 81 คน ผักทั้งหมดส่งขายให้ห้างโลตัส ขอนแก่น ก่อนที่สมาชิกจะนำผักมาส่งยังโรงคัดแยกฯ ของกลุ่มฯ โดยเกษตรกรจะทำความสะอาดและคัดแยกมาจากบ้านก่อนแล้ว จากนั้นทางโรงคัดแยกฯ จะมาตรวจสอบทำ QC (Quality Control : เป็นการตรวจสอบสินค้าและบริการให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งถูกต้องหรือสอดคล้องตรงตามแผนที่ได้วางไว้ ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ) อีกครั้งหนึ่งก่อนบรรจุ

“ที่ผ่านมาสมาชิกมีรายได้เสริมจากการปลูกผักขายสัปดาห์ละ 1000-3000 บาท นับเป็นรายได้ที่ดี เพราะหลายคนเป็นผู้สูงวัย นอกเหนือจากทำนาก็ปลูกผักขาย สำหรับดิฉันเองนั้น ก่อนหน้านี้ปลูกแตงกวาและแตงร้าน เดือนหนึ่งขายได้ 7,000-8,000 บาท ซึ่งใช้พื้นที่ไม่มากอะไร ประมาณ 1 ไร่” นางปวีร์รักษกล่าว

เกษตรกรอีกคนที่ได้รับประโยชน์จากการเข้ามาช่วยเหลือแนะนำของ ปิดทองฯ ทั้งในเรื่องการปลูกพืชผักและการหาตลาด คือ “แม่คำออน สมปาน” เกษตรกรต้นแบบในโครงการพัฒนาและจัดหาน้ำ ต.ทุ่งโป่ง เจ้าตัวแจงว่า

“ก่อนหน้าโรคโควิด-19 ระบาด มีรายได้ทุกวันตั้งแต่ 300-500 บาท จนถึงวันละ 1,500 บาท และโอกาสพิเศษ บางครั้งขายได้ 5,000-7,000 บาท โดยนำผักไปขายเองตามจุดชุมชนต่าง ๆ ทั้งในหมู่บ้านและโรงพยาบาล”

วันนี้ นอกจากชาวบ้านทุ่งโป่งจะมีพืชผักสวนครัวและผลไม้ไม้ทานกันในครอบครัว เป็นการพึ่งพาตนเองแล้ว ส่วนหนึ่งยังปลูกไว้เพื่อจำหน่ายด้วย ซึ่งสามารถปลูกพืชผักได้ทั้งปี ที่สำคัญมีตลาดรองรับด้วย อีกทั้งการนำผักไปขายในห้างฯ ถือเป็นการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าของกลุ่มให้เป็นที่ยอมรับของตลาด