สศท.6 เผยผลลัพธ์ยกระดับแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน จ.ฉะเชิงเทรา ต้นแบบความสำเร็จ ดึงเทคโนโลยีผลิตปาล์มคุณภาพ

นางศศิญา ปานตั้น ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลสำเร็จการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการผลิตในพื้นที่ มีการบริหารจัดการโดยเน้นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และประสบผลสำเร็จในการยกระดับการผลิตด้วยเกษตรสมัยใหม่ ตามวิสัยทัศน์ของกลุ่มคือ “มุ่งใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพิ่มคุณภาพผลผลิตและเชื่อมโยงตลาดอย่างยั่งยืน”

ที่สำคัญกลุ่มพัฒนาศักยภาพการผลิตได้รับมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมมิติความยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO) ซึ่งล่าสุดได้รับรางวัลชนะเลิศแปลงใหญ่ดีเด่นระดับเขตภาคตะวันออก ปี 2565

309005516 402399812066361 7682000875005002097 n
ผลลัพธ์ยกระดับแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน จ.ฉะเชิงเทรา

จากการติดตาม ของ สศท.6 พบว่า วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน เริ่มดำเนินการเมื่อปีงบประมาณ 2563 ในรูปแบบคณะกรรมการแปลงใหญ่ โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวม 734 ไร่ (ปลูกเฉลี่ย 19.3 ไร่/ครัวเรือน) สมาชิกเกษตรกร 38 ราย มีนายประทีป แก้วเกตุ เป็นประธานแปลงใหญ่

โดยทางกลุ่มแปลงใหญ่ มีการบริหารจัดการแปลงอย่างมีประสิทธิภาพและมุ่งมั่นขยายผลยกระดับศักยภาพการผลิตการตลาดของกลุ่มจึงเสนอแผนยกระดับศักยภาพสามารถเข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ปี 2564 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการภายใต้งบประมาณแผนงาน/โครงการภายใต้ พ.ร.ก.ฯ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีอุปกรณ์ลดต้นทุนสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ได้แก่ ลานรวบรวมผลผลิตพร้อมอาคารสำนักงาน ชุดชั่งน้ำหนักขนาด 50 ตัน พร้อมอุปกรณ์เครื่องชั่ง ดั๊มลานเคลื่อนที่ ขนาด 17 ตัน และรถ forklift truck

สำหรับผลลัพธ์ที่สำเร็จจากการดำเนินการของวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน ตามแนวทางการพัฒนา 5 ด้าน ที่สำคัญของโครงการฯ ดังนี้ ด้านการลดต้นทุนการผลิต สมาชิกกลุ่มใช้ปุ๋ยสั่งตัดตามค่าวิเคราะห์ดิน การผลิตแคลเซียมโบรอนใช้เอง การปรับมาใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยขี้ไก่ ร่วมกับปุ๋ยเคมี ใช้ฟีโมนในกับดักเพื่อล่อตัวด้วงในแปลงปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นการลดการใช้สารเคมี ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิตเหลือเพียง 4,140 บาท/ไร่/ปี จากก่อนเข้าร่วมโครงการฯ ที่มีต้นทุนเฉลี่ย 5,030 บาท/ไร่ หรือลดลงร้อยละ 18

ด้านการเพิ่มผลผลิต สมาชิกกลุ่มมีการตัดแต่งใบปาล์มน้ำมัน เพิ่มการใช้ระบบน้ำสปริงเกอร์และวางระบบน้ำ ใช้แคลเซียมโบรอนช่วยเพิ่มผลผลิต และเลี้ยงผึ้งในแปลงช่วยผสมเกสรปาล์ม สามารถเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันได้ 3,200 กิโลกรัม/ไร่/ปี จากก่อนเข้าร่วมโครงการฯ มีผลผลิตเฉลี่ย 2,800 กิโลกรัม/ไร่/ปี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14

ด้านการพัฒนาคุณภาพการผลิต ดำเนินการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยสมาชิกกลุ่มทุกคนได้รับได้รับมาตรฐาน RSPO รวมทั้งกลุ่มมีเกณฑ์การคัดเลือกทะลายปาล์มน้ำมันคุณภาพดีต้องสุกไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ด้านการบริหารจัดการ ทางกลุ่มได้นำอุปกรณ์เครื่องจักรกลมาใช้รวบรวมผลผลิตของสมาชิก ช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนจากการใช้แรงงานในการขนถ่ายผลทลายปาล์มส่งโรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน มีการจำหน่ายผลผลิตภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อลดการสูญเสียของน้ำหนักผลผลิตและเพื่อคุณภาพของน้ำมันปาล์ม และด้านการตลาด

ทางกลุ่มจัดทำลานรับซื้อผลปาล์มของสมาชิกกลุ่มและเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นสมาชิก มีตราชั่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมการค้าภายใน มีการทำสัญญาการซื้อขายกับบริษัทไทยอิสเทิร์นกับบริษัทสุขสมบูรณ์ จังหวัดชลบุรี โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอสนามชัยเขต เป็นหน่วยงานกำกับดูแล โดยรับซื้อตามราคาจริงจากโรงงาน สามารถบวกราคารับซื้อปาล์มน้ำมันเพิ่ม 0.50 – 0.55 บาท/กิโลกรัม จากราคาหน้าป้าย เนื่องจากผลผลิตของสมาชิกมีการรักษาคุณภาพมาตรฐาน RSPO

นอกจากนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์กลุ่มและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตของกลุ่ม ผ่านทาง Facebook “แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันอำเภอสนามชัยเขต” และผ่าน line ของกลุ่ม ซึ่งได้มีการรับซื้อผลผลิตของสมาชิกแล้วกว่า 2,000 ตัน

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการพัฒนาและยกระดับวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันในระยะต่อไป ทางกลุ่มมีแผนพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ การเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านปาล์มน้ำมัน สมาชิกกลุ่มต้องผ่านการอบรม Smart Farmer หรือ Young Smart Farmer และสามารถพัฒนาได้รับคัดเลือกเป็นต้นแบบ การร่วมกันผลิตและจำหน่ายภายใต้กฎระเบียบเดียวกันโดยรักษามาตรฐาน RSPO ทุกราย ส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งในทุกแปลงเพื่อผลิตน้ำผึ้งแท้จากเกสรปาล์ม เพิ่มการใช้ระบบน้ำสปริงเกอร์เป็นการประหยัดน้ำ เพิ่มการใช้โซลาร์เซลล์สูบน้ำ ด้าน Zero Waste ในการนำทางใบปาล์มมาทำปุ๋ยหมักและเพาะเห็ด และมีการพิจารณาแผนความคุ้มค่าการรวบรวมส่งทางใบปาล์มให้โรงงานไฟฟ้าชีวมวลต่อไป หากท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิต และผลการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถสอบถามได้ที่ นายประทีป แก้วเกตุ ประธานแปลงใหญ่ โทร 08 9504 4751