นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง โดยจังหวัดนครราชสีมา นับเป็นแหล่งปลูกอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจากข้อมูลของคณะทำงานพัฒนาคุณภาพข้อมูลปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืชภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ เดือนมกราคม 2566จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 รวม 659,953 ไร่ ผลผลิตรวม 485,381 ตัน พื้นที่ปลูกครอบคลุม 23 อำเภอ พบปลูกมากที่สุดในอำเภอปากช่อง ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่จะนิยมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชไร่อื่น ๆ เป็นอาชีพหลัก ทั้งนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 แบ่งออกเป็น ต้นฤดูฝน คือ เพาะปลูกระหว่าง 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคมของปีเดียวกัน เก็บเกี่ยวระหว่าง 1 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม และปลายฤดูฝน คือ เพาะปลูกระหว่าง 1 สิงหาคม – 31 ตุลาคม ของปีเดียวกัน เก็บเกี่ยว 1 พฤศจิกายน – 31 ธันวาคม
สศท.5 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 พบว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตำบลระเริง อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา นับเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จนประสบผลสำเร็จ เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2564 โดยมีนายวสันต์ สังข์สุวรรณ เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกรวม 1,216 ไร่ มีสมาชิกเกษตรกร 93 ราย สำหรับในปี 2566 กลุ่มวิสาหกิจฯ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 ได้ผลผลิตรวม 1,100 ตัน/รอบการผลิต ผลผลิตเฉลี่ย 900 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย 9,900 บาท/ไร่/รอบการผลิต หากคิดผลตอบแทนของทั้งกลุ่มในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 เฉลี่ยอยู่ที่ 12,038,400 บาท/ปี
ด้านราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 ของกลุ่มวิสาหกิจฯ ช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด ปี 2565 ณ ความชื้น 14.5 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยอยู่ที่ 11 บาท/กิโลกรัม ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 60 จำหน่ายให้กับบริษัทที่ทำสัญญาซื้อขายร่วมกัน ได้แก่ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อำเภอปักธงชัย ส่วนผลผลิต ร้อยละ 30 จำหน่ายให้กับลานรับซื้อในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ตลาดอำเภอปักธงชัย และอำเภอปากช่อง และอีกร้อยละ 10 จำหน่ายให้กับสหกรณ์การเกษตรปักธงชัย
สำหรับการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจฯ ได้จัดตั้งลานรับซื้อผลผลิตขึ้นภายในตำบลระเริง เพื่อรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกในกลุ่ม นำมาลดความชื้นให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ผู้รับซื้อกำหนด ด้วยเครื่องมือที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ตามนโยบายยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เมื่อปี 2564 ได้แก่ โรงอบลดความชื้น ขนาด10 ตัน อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร (โดรน) สำหรับฉีดพ่นยาหรือสารชีวภัณฑ์สำหรับกำจัดศัตรูพืช เครื่องชั่งน้ำหนักผลผลิตการเกษตร และเมล็ดพันธุ์คุณภาพ แล้วส่งจำหน่ายให้กับบริษัทเอกชนที่มีข้อตกลงร่วมกัน จึงส่งผลให้ภายหลังการจัดตั้งกลุ่มและการบริหารจัดการที่ดีของประธานกลุ่มฯ นำมาซึ่งการเพิ่มผลตอบแทนที่สูงขึ้นให้กับเกษตรกร จากการลดต้นทุนค่าปัจจัยการผลิตและค่าจ้างแรงงาน การลดต้นทุนค่าขนส่ง การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมไปถึงราคาจำหน่ายที่สูงกว่าราคาเฉลี่ยภายในจังหวัด
“ขณะนี้เกษตรกรบางส่วน ร้อยละ 10 เริ่มทำการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ช่วงต้นฤดูฝน และเกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 จะทำการเพาะปลูกพืชหมุนเวียน อาทิ มันสำปะหลัง หรือพืชผัก เพื่อรอการเพาะปลูกช่วงปลายฤดูฝน เนื่องจากมีปริมาณน้ำที่ใช้เพียงพอต่อการเพาะปลูก ทั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจฯ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ สำนักงานเกษตรอำเภอวังน้ำเขียว กรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนงบประมาณสำหรับการจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมสนับสนุนพื้นที่จัดตั้งที่ทำการกลุ่ม สถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ ร่วมบูรณาการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถรวมกลุ่มการผลิตและการจำหน่าย รวมทั้งการบริหารจัดการกลุ่มร่วมกัน ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตในการหาปัจจัยการผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต ตรงตามความต้องการของตลาด มีแหล่งรับซื้อที่แน่นอน และได้ราคาเหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายตลาดนำการผลิต หากท่านใดที่สนใจสอบถามข้อมูลสถานการณ์การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายวสันต์ สังข์สุวรรณ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตำบลระเริง อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา โทร 06 5225 4453” ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวทิ้งท้าย