กรมส่งเสริมการเกษตรจัดประกวดแปลงใหญ่ระดับประเทศปี 66 มี 9 แปลงใหญ่ระดับเขตเข้าประกวดโดยแปลงใหญ่โคนม สหกรณ์โคนมโคกก่อ จ.มหาสารคาม คว้ารางวัลชนะเลิศ รับเงินรางวัล 60,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร ส่วนแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่(ข้าว)จ.สุพรรณบุรีและแปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ 14 จ.จันทบุรี ได้รางวัล รองชนะเลิศอันดับที่1 และที่2 คาดกระตุ้นให้เกษตรกรเน้นพัฒนาคุณภาพสินค้า เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน รวมกลุ่มที่เข้มแข็ง สู่ความมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดให้มีการประกวดแปลงใหญ่ขึ้น ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา เพื่อคัดเลือกแปลงใหญ่ดีเด่น เป็นตัวอย่างในการขยายผลการส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของแปลงใหญ่ดีเด่น กระตุ้นการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานแปลงใหญ่ในอนาคต การจัดประกวดมีการคัดเลือกตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ โดยในปี 2566 มีแปลงใหญ่ดีเด่นระดับเขต จำนวน 9 แปลง เข้าประกวดระดับประเทศ
สำหรับผลการประกวดแปลงใหญ่ระดับประเทศ ปี 2566 ตัดสินโดยคณะกรรมการตัดสินการประกวดแปลงใหญ่ระดับประเทศ แปลงใหญ่ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ แปลงใหญ่โคนม สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ตำบลโคกก่อ อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ได้เงินรางวัล 60,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรีเงินรางวัล 40,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ แปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ 14 ตำบลนายายอาม อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี เงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร
ส่วนรางวัลชมเชย 6 รางวัล ประกอบด้วย แปลงใหญ่ส้มโอขาวแตงกวาอำเภอสรรคบุรี ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท แปลงใหญ่ข้าว หมู่ 16 ตำบลหนองแค อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ แปลงใหญ่กาแฟ ตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร แปลงใหญ่สละ ตำบลทุ่งนารี อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง แปลงใหญ่กาแฟ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ และแปลงใหญ่ข้าว ตำบลน้ำพุ อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ได้รับเงินรางวัลแปลงละ 10,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับคุณสมบัติของแปลงใหญ่ที่เข้าประกวด ปี 2566 จะต้องเป็นแปลงใหญ่ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นปีที่ 3 หรือมากกว่า (แปลงใหญ่ ปี 2559 – 2564) มีผลการดำเนินงานให้ตรวจสอบย้อนหลังได้อย่างน้อย 2 ปี ไม่เคยได้รับรางวัลแปลงต้นแบบ และแปลงใหญ่ดีเด่นระดับประเทศ (ทุกรางวัล) ส่วนประเด็นการตรวจประเมินและเกณฑ์ให้คะแนน จะเน้น 1.แผนและปัจจัยการนำเข้า 30 คะแนน 2.การดำเนินการและผลตามกิจกรรม 30 คะแนน 3.ผลลัพธ์ 40 คะแนน 4.การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาใช้ 25 คะแนน และความยั่งยืนอีก 25 คะแนน รวม 150 คะแนน และแปลงใหญ่ที่ได้คะแนนมากที่สุดตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับรางวัลในที่สุด
“เชื่อมั่นว่าการประกวดแปลงใหญ่ระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศดังกล่าว ได้สร้างแรงจูงใจแรงบันดาลใจ และกระตุ้นให้เกษตรกรแปลงใหญ่ทั่วประเทศ ได้ตระหนักถึงการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพสินค้า เชื่อมโยงการตลาดที่หลากหลาย มีการบริหารจัดการแปลงที่ดี และการรวมกลุ่มที่เหนียวแน่น เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรหรือผลผลิตทางการเกษตรให้ได้มาตรฐานสากล มีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สามารถนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้ในแปลงเกษตรได้อย่างลงตัว มีช่องทางการตลาดที่แน่นอน ยกระดับเป็น Smart Farmer หรือเกษตรอัจฉริยะสามารถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ สู่เกษตรกรรายอื่นหรือประชาชนที่สนใจ และนำไปสู่รายได้ที่มั่นคงและชีวิตที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว