นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้มีนโยบายและข้อสั่งการให้เข้มงวด ปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยได้จัดตั้ง ชุดเฉพาะกิจ พญานาคราช นั้น
ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่จังหวัดระนอง นำทีม ฉก. พญานาคราช ติดตามประเด็นปัญหาการลักลอบนำเข้า ส่งออกสินค้าเกษตรด้านพืช(ยางพารา)ที่ผิดกฎหมายจังหวัดระนอง อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายสุทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย นางสาวฉันทนา คงนคร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 และนายธานินทร์ โต๊ะหมัดและ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดระนอง ร่วมประชุมหารือกับนายราชัน มีน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้ายางพาราในพื้นที่จังหวัดระนอง โดยสรุปสาระการประชุมดังนี้
1.ประชาสัมพันธ์ เน้นย้ำสร้างการรับรู้แก่ผู้ประกอบการและผู้ค้ายาง ห้ามนำยางพาราจากต่างประเทศ เข้ามาภายในประเทศไทย เพราะเป็นสิ่งต้องห้าม ตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 โดยขอให้ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องถือปฎิบัติเคร่งครัด
2.กรมวิชาการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย และเกษตรและสหกรณ์จังหวัดระนอง อำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางพารา และการรายงานปริมาณยางคงเหลือของผู้ค้ายางพารา ผ่านระบบ Application ให้กับเกษตรกรและผู้ค้ายางในจังหวัดระนอง ภายในเดือน ธันวาคม 2566 เพื่อให้จังหวัดระนอง เป็นจังหวัดนำร่อง และขยายผลทั่วประเทศต่อไป
3.ผู้ค้ายางพาราทุกรายในจังหวัดระนอง ต้องมีใบอนุญาตค้ายางพาราและสามารถยื่นขอและต่อใบอนุญาต ได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระนอง หากไม่มีใบอนุญาต ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ. 2542
4.วันที่ 14 ธันวาคม 2566 การยางแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และเกษตรและสหกรณ์จังหวัดระนอง จะร่วมจัดประชุมชี้แจง และรับฟังความเห็นเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ค้ายางและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้ายาง สร้างเสถียรภาพของราคายางพารา
5.มอบหมายให้จังหวัดระนอง ประสานกรมเจ้าท่า เพื่อกำหนดท่าเรือ นำเข้าสินค้าเกษตร ในแม่น้ำกระบุรี ให้ชัดเจน ป้องกันการลักลอบนำเข้าริมลำน้ำแนวชายแดน
ในการนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และคณะ ได้ให้แนวทางในปฏิบัติงานและการตรวจสอบการขนย้ายยางพาราแก่ทหารชุดปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 25 ณ จุดตรวจความมั่นคงศิลาสลัก จ.ป.ร. ตำบล จ.ป.ร. อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ทั้งนี้ได้ร่วมตรวจการขนย้ายยางพารา ผู้ขนย้ายยางจะต้องแสดงใบอนุญาตค้ายางและแบบบัญชีการซื้อขายยางแสดงแก่เจ้าหน้าที่
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดระนอง มีผู้ได้รับใบอนุญาตค้ายางพารา จำนวน 102 ราย การขออนุญาตนำเข้า- ส่งออกยางพาราไปนอกราชอาณาจักร ต้องทำการตรวจสอบปริมาณ ชนิด และแหล่งที่มาของยางพารา ซึ่งปริมาณของยางพารา จะต้องสอดคล้องกับจำนวนพื้นที่ปลูกยางพาราที่ได้ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า ได้สั่งกำชับให้ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระนอง และหัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือระนอง และเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในทุกพื้นที่ เข้มงวด ตรวจสอบ ปราบปรามลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อนอย่างจริงจัง