สอบทุเรียนไทยส่งไปญี่ปุ่นมีสารปนเปื้อน พบสวมรอยอ้างผลผลิตเกษตรกร- GAP จนท.เตรียมลุยสอบบริษัทชิปปิ้ง

เจ้าหน้าที่ขยายผลสอบทุเรียนไทยส่งไปญี่ปุ่นมีสารปนเปื้อน พบสวมรอยอ้างผลผลิตเกษตรกร และสวมสิทธิ GAP ศวพ.นครศรีฯ – เกษตรจังหวัด เตรียมลุยสอบบริษัทส่งออก 

นายภูวเดช วุฒิวงศ์วัฒ เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยกรณีทุเรึยนไทยส่งไปญี่ปุ่น พบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน และตามเอกสารแจ้งชื่อเจ้าของสวนอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช นั้น

ล่าสุด ได้เดินทางพร้อมเจ้าหน้าที่ สนง.เกษตรจังหวัดฯ และผอ.ศวพ.นครศรีธรรมราช ลงไปพบนายโชคชัยฯ เจ้าของสวนที่ปรากฏชื่อตามเอกสารการส่งออกเพราะเอกสารปรากฏว่า เป็นทุเรียนจากสวนนายโชคชัยฯ ซึ่งเจ้าตัว (นายโชคชัย) ให้ข้อมูลว่า ไม่เคยใช้สาร Procymidone กับสวนทุเรียนตัวเองตามที่ทางการญี่ปุ่นมีการตรวจพบ 

ขณะที่นายชวิศร์ สวัสดิสาร ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ได้สอบทานเจ้าของสวนดังกล่าว ให้ข้อมูลว่า เจ้าของสวนเคยขายทุเรียนให้ผู้ซื้อเดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายน 2566 แต่ในเอกสารที่มีการแจ้งเตือนการพบสาร Procymidone แจ้งว่ามีการส่งทุเรียนไปเมื่อเดือนกันยายน 2566 นั่นหมายความว่า การขายผลทุเรียนและการแจ้งเตือนไม่สัมพันธ์กัน เพราะแจ้งมาก่อนที่จะมีการขายผลผลิตไป

IMG 8495

นอกจากนี้ยังตรวจสอบ แบบคำขอใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช พบว่า เป็นเลขเก่าที่ยังไม่ได้มีการอัพเดท ซึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการปรับเปลี่ยนเลข GAP ใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 จึงสรุปได้ว่ามีการสวมผลผลิต และใบ GAP ของเกษตรกร และสวนรายนี้แน่นอน

นายชวิศร์ สวัสดิสาร ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช บอกว่า รายงานเรื่องทั้งหมดให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7 ทราบแล้ว และจะมีการประชุมสรุปอีกครั้ง ขณะเดียวกะนจะต้องสอบสวนบริษัทส่งออกที่ปรากฏในเอกสารเพิ่มเติม ว่า นำผลผลิต จากสวนไหนมาสวมใบ GAP และ DOA ของล้ง ที่ จ.จันทบุรี 

ก่อนหน้านี้นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ทำหนังสือแจ้งเตือนการตรวจพบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ไปยังบริษัท ไทยชิเอ็กซ์พอร์ต จำกัด โดยระบุว่า กรมวิชาการเกษตร ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตรวจพบสาร Procymidone ปริมาณ 0.02 ppm ในทุเรียนสด เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 โดยมีโรงคัดบรรจุ บริษัท ไทยชิเอ็กซ์พอร์ต จำกัด มีเลข DOA ปรากฏในการส่งออก และใช้ใบ GAP ของเกษตรกรใน จ.นครศรีธรรมราช ประกอบการส่งออก 

แต่ภายหลัง น.ส.อรไพลิญญ์ ธนดลโอฬาร กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทย ชิ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทไม่ใช่ผู้ส่งออกทุเรียนล็อตดังกล่าวไปญี่ปุ่น และไม่เคยคัดบรรจุทุเรียนส่งออกให้กับบริษัท นำเข้าจากญี่ปุ่น และบริษัทส่งออกจากประเทศไทย พร้อมกับแจ้งความ บริษัทที่นำ DOA ล้งไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและทำให้เสียชื่อเสียง