วันที่18 ธ.ค.66 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจากร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นประธานพิธีเปิดนิทรรศการ “เกษตร อาหาร และสุขภาพ” ในโอกาสครบรอบ 90 ปี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เงินบาทแรกของแผ่นดิน สู่ความมั่นคงด้านเกษตร อาหาร และสุขภาพ” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้น ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงสาธิตปลูกถั่วเหลือง พันธุ์ กวก เชียงใหม่ 7 ของนักศึกษา คณะผลิตกรรมเกษตร ตลอดจนเยี่ยมชมนิทรรศการภายในงาน และร่วมหารือกับสภาคณบดีสาขาเกษตรแห่งประเทศไทย
นายอนุชา กล่าวว่า ชาติพันธุ์ของประเทศไทยเป็นชาติพันธุ์เกษตร เพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพทางด้านเกษตร ดังนั้น จึงได้ขับเคลื่อนแนวคิด “เงินบาทแรกของแผ่นดิน” คือ เงินจากน้ำ (ภาคประมง) เงินจากดิน (สวนไร่นา) และเงินจากหญ้า (ภาคปศุสัตว์) ซึ่งถือมีความสำคัญ เพราะเกษตรกรเป็นกำลังซื้อหลักของประเทศ ที่จะสามารถผลิตเม็ดเงิน เพื่อดันตัวเลข GDP ให้เติบโตขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมี GDP อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท ร้อยละ 80 ของ GDP แบ่งเป็น ภาคการท่องเที่ยว ร้อยละ 20 และภาคอุตสาหกรรมส่งออกและบริการ ร้อยละ 60 แต่ GDP ภาคเกษตรมีเพียงแค่ร้อยละ 7 – 8 ของ GDP ทั้งประเทศ เป็นเงิน 1.3 ล้านล้านบาท
“ดังนั้น เป้าหมายหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงต้องการส่งเสริม สนับสนุน เพื่อให้เกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยการสร้างสินค้าเกษตรมีมูลค่าสูง มุ่งเน้นการทำเกษตรปลอดภัย นำไปสู่ความเชื่อมั่น สร้างมูลค่า สร้างรายได้จากการขายผลผลิต และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่หลากหลาย รวมถึงขณะนี้ ได้เดินหน้าขับเคลื่อนการใช้ Agri Map เป็นฐานข้อมูลที่สำคัญในการวางแผนการทำเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพดินและน้ำในแต่ละพื้นที่ สำหรับพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกำหนดให้มีการปรับเปลี่ยนโดยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการทำเกษตรแบบเดิมที่ปลูกพืชเพียงอย่างเดียว เพราะการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์นั้นทำได้ง่าย ไม่ต้องลงทุนสูง สามารถพลิกชีวิต นำพาลูกหลานเกษตรกรไทย สู่ความร่ำรวย ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้”
นายอนุชา กล่าวอีกว่า เชื่อมั่นว่าหากภาครัฐและสถาบันการศึกษาผนึกความร่วมมือกัน โดยการใช้องค์ความรู้ที่มีส่งเสริมลูกหลานเกษตรกรไทย จะสามารถสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร เยาวชน นักศึกษา บัณฑิต ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจในการประกอบการทางการเกษตร สามารถที่จะร่วมมือกันขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนได้ และผมหวังเป็นอย่างยิ่งที่อยากเห็นลูกหลานเกษตรกรไทยได้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ซึ่งทั้งหมดนี้เราต้องร่วมกันปรับเปลี่ยน ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เกษตรกรหลุดพ้นความยากจนได้ คือการทำปศุสัตว์
“ดังนั้น การจะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นครัวของโลกได้ เราจึงต้องปรับเปลี่ยนมาทำปศุสัตว์ เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนของโลก สามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรได้ ซึ่งการสนับสนุนอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วนจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปสู่การเป็น “ครัวของโลก” หรือแหล่งผลิตอาหารครบวงจรได้อย่างแท้จริง เป็นความท้าท้ายที่ทุกฝ่ายต้องผสานความร่วมมือกัน” นายอนุชา กล่าวย้ำ
สำหรับนิทรรศการ “เกษตร อาหาร และสุขภาพ” เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน “เกษตรแม่โจ้ 90 ปี” ระหว่างวันที่ 16 – 24 ธันวาคม 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อฉลองในวาระครบรอบ 90 ปี ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นการเผยแพร่ผลงานและถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางการเกษตรของมหาวิทยาลัย มุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประชาชนภาคีเครือข่ายอย่างกว้างขวาง ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการเปิดโอกาสให้เครือข่ายด้านการเกษตรได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และการปฏิบัติงาน โดยภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งผลงานวิจัย นวัตกรรม บริการวิชาการ อบรม สัมมนา ตลาดสินค้าเกษตร ศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น