รศ.ดร. สุรพล แสนสุข ศาสตราจารย์สาขาวิชาพฤกษศาสตร์ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ต้นก็งามนามก็ไพเราะ “เปราะนภาวรรณ” “Kaempferia napavarniae Saensouk, P.Saensouk & Boonma” เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ความงดงามแห่งพืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก เป็นพืชถิ่นเดียวและพืชหายากของประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีการนำใบอ่อนมารับประทานเป็นอาหาร ชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อไทยตั้งขึ้นเป็นเกียรติแก่ท่าน “รองศาสตราจารย์ ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์” “นักวิทยาศาสตร์อาวุโส ประจำปี 2563” ท่านเป็นผู้สนับสนุนงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ ทำให้ประเทศไทยมีองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มมากขึ้น โดยคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประกอบไปด้วย รองศาตราจารย์ ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา (จากหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช) และ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร แสนสุข (ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์) เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยจาก BEDO (สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)) โดยได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ
ดูที่นี่ https://smujo.id/biodiv/article/view/11446/6043
สำหรับ “เปราะนภาวรรณ” เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในวงศ์ขิง (Zingiberaceae family) สกุลเปราะ (Kaempferia genus) สกุลย่อยเปราะ (subgenus Kaempferia) ชื่อวิทยาศาสตร์ “Kaempferia napavarniae Saensouk, P.Saensouk & Boonma”
เปราะนภาวรรณ พบในป่าเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพืชล้มลุก เหง้ารูปทรงไข่เรียงต่อกันเป็นแถวเมื่อมีอายุหลายปี รากสะสมอาหารอยู่ใกล้กับเหง้า ใบรูปไข่จนถึงรูปเกือบกลมแผ่ราบขนานดิน 2 ใบตรงข้ามกัน ปลายแหลม ฐานใบกลม ใบสีเขียวมีลายจุด จุดสีเขียวเข้มมากจนถึงสีดำ ช่อดอกเกิดกลางกาบใบ ดอกบานในระนาบเดียวกันขนานกับดินคือกลีบเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน(staminodes)ไม่ตั้งขึ้น เมื่อบานจะอยู่ในระนาบเดียวกันกับกลีบปาก(labellum) และมีแต้มสีเหลืองอ่อนที่โคนกลีบปาก พบออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม นอกจากความงดงามของพืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก เปราะนภาวรรณยังมีสถานะเป็นพืชถิ่นเดียวและพืชหายากของประเทศไทย และมีการนำใบอ่อนมารับประทานเป็นอาหารเหมือนกับหลายชนิดในสกุลเดียวกัน