“พาณิชย์” ชี้เป้าผู้ส่งออก ขายอาหารสัตว์เจาะตลาดจีน รับการเติบโตกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยทาสสัตว์เลี้ยงในจีนขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชี้เป็นโอกาสในการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยไปขาย แนะใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซทั้งขายผ่านแพลตฟอร์มชื่อดัง และอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเปิดตัวสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีน และต้องเน้นสินค้าคุณภาพมีคุณค่าทางโภชนาการ หรือออร์แกนิกจะยิ่งเพิ่มโอกาส

%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%95 %E0%B8%AD%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%94%E0%B8%B5 1
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ


 

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจาก น.ส.บูชิตา อินทรทัศน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว สาธาณรัฐประชาชนจีน ถึงแนวโน้มตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของจีน และโอกาสในการขยายตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในจีนเพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มคนรักสัตว์เลี้ยงในจีนที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
         

โดยทูตพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลประกอบว่า อุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงของจีนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2565 จีนมีขนาดตลาดสัตว์เลี้ยงมูลค่า 270,600 ล้านหยวน ประมาณ 1.353 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% และตลาดการบริโภคสำหรับสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 392,400 ล้านหยวน หรือประมาณ 1.962 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากครอบครัวขนาดเล็กลงคนหนุ่มสาวแยกตัวมาอยู่คนเดียว ทำให้มีความต้องการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นคนหนุ่มสาว โดยเพศหญิงและผู้ที่เกิดระหว่างปี 2538–2542 ครองสัดส่วนสูงที่สุด

%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C 5
ชี้เป้าอาหารสัตว์เจาะตลาดจีน


         
สำหรับการบริโภคของสัตว์เลี้ยงผู้เลี้ยงไม่ได้ให้กินอิ่มอย่างเดียว แต่มีความยินดีที่จะจ่ายเพื่อแสวงหาประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับสัตว์เลี้ยง อาหารและขนมต้องกินดี ต้องแพงซื้อของเล่นให้หลากหลาย พาไปรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ รวมถึงจัดงานศพให้กับสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นบริการที่เพิ่งกำเนิดขึ้นในตลาดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีตัวเลขการใช้จ่ายสัตว์เลี้ยง 1 ตัว ต่อ 1 ครัวเรือน สูงกว่า 5,000 หยวน หรือ 25,000 บาทขึ้นไป และมีความหลากหลายในประเภทสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนโครงสร้างการบริโภคสำหรับสัตว์เลี้ยงของจีนพบว่า อาหารสัตว์ครองสัดส่วนสูงที่สุด 40% รองลงมาได้แก่ ของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยง การรักษาพยาบาล และบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงส่วนสัตว์เลี้ยงที่เป็นที่นิยมยังคงเป็นสุนัขและแมว

ทางด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในจีนพบว่า แบรนด์ต่างชาติที่อาศัยความได้เปรียบด้านคุณภาพ และการเข้าสู่ตลาดจีนก่อนจึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคโดยแบรนด์ต่างชาติจากยุโรปและสหรัฐฯ ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 40% ที่เหลือเป็นแบรนด์จีนและแบรนด์ต่างชาติอื่น ๆ

นายภูสิตกล่าวว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้เกิดเศรษฐกิจคนโสด และเศรษฐกิจผู้สูงอายุประกอบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวจีน ส่งผลให้สัตว์เลี้ยงเริ่มกลายเป็นเสมือนคนในครอบครัว เป็นเพื่อนคลายความเหงาและความเครียดจึงผลักดันให้จำนวนผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงในจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลตลาดที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์และบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดและมีทิศทางการเติบโตที่ดี รวมถึงความนิยมอาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้าของทาสรักสัตว์เลี้ยงของจีน ทำให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของจีนเป็นอีกตลาดที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถทดลองเข้ามาเปิดตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีนผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ทั้งจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังในจีน หรือช่องทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนโดยการร่วมมือกับพันธมิตร คู่ค้าที่น่าเชื่อถือได้ในจีน รวมทั้งการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติระดับประเทศทั้งในเมืองหลวง และเมืองรองต่าง ๆ เพื่อทดสอบตลาดในระยะเริ่มต้นซึ่งในปัจจุบันสามารถพบเห็นอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยวางจำหน่ายอยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนบ้างแล้ว แต่ยังมีแบรนด์ที่ไม่หลากหลายเท่าที่ควร จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยรายใหม่ ๆ จะเริ่มศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนในการเลือกซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณสมบัติของอาหารสัตว์เลี้ยงให้ตรงความต้องการของผู้บริโภคในตลาดจีนที่มีความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีความปลอดภัย มีสารอาหารเสริมครบถ้วน และมีความต้องการผลิตภัณฑ์ไฮเอนด์ มีความเป็นธรรมชาติหรือออร์แกนิก และยังต้องพิจารณาลงทุนในด้านการประชาสัมพันธ์ให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือควบคู่ไปด้วย