กว่างซี สืบสานสร้างสรรค์ “ผ้าทอจ้วง” โอกาสเรียนรู้และต่อยอดของ “ผ้าทอไทย” ก่อนลุยตลาดจีน

“ผ้าทอพื้นเมือง” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางศิลปะและวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้สั่งสม สร้างสรรค์ และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นงานหัตถศิลป์ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยควบคู่กับความงามด้านลวดลาย สีสัน และความประณีต เป็นรากเหง้าและสิ่งที่สะท้อนตัวตนของผู้คนแต่ละชาติพันธุ์

2024 01 04 1 1
กว่างซี สืบสานสร้างสรรค์ “ผ้าทอจ้วง” โอกาสเรียนรู้และต่อยอดของ “ผ้าทอไทย” ก่อนลุยตลาดจีน

“ผ้าไหมทอดิ้นชาวจ้วง” หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “จ้วงจิ่น” (壮锦) ที่เป็น 1 ใน 4 สุดยอดผ้าไหมทอดิ้น (Brocade) ที่มีชื่อเสียงของประเทศจีน (อีก 3 ชนิด ได้แก่ สูจิ่นของนครเฉิงตู ซ่งจิ่นของเมืองซูโจว และอวิ๋นจิ่นของนครหนานจิง) โดย “จ้วงจิ่น” มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,000 ปี เป็นเครื่องราชบรรณาการ หรือจิ้มก้อง ที่ส่งไปถวายราชสำนักตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่ลวยลายผ้าที่มีสีสันสดใส

2024 01 04 1 4 1024x301 %E0%B8%AA
กว่างซีสืบสานสร้างสรรค์ “ผ้าทอจ้วง”

ในปี 2549 “จ้วงจิ่น” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ระดับชาติ” ชุดแรกของจีน ผ้าทอพื้นเมืองชนิดนี้มีแหล่งทอผ้าอยู่ที่อำเภอปินหยางของนครหนานหนิง อำเภอระดับเมืองจิ้งซีของเมืองไป่เซ่อ และอำเภอซินเฉิงของเมืองหลายปินของเขตฯ กว่างซีจ้วง

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป นอกจากการสืบสานสืบทอดผ้าทอพื้นบ้านจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษสู่คนรุ่นหลังแล้ว ผ้าทอพื้นเมืองแบบดั้งเดิมต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงผ้าทอพื้นเมืองในไทย และ “จ้วงจิ่น” ของกว่างซีด้วย

2024 01 04 1 4 1024x301 1%E0%B8%99
กว่างซีสืบสานสร้างสรรค์ “ผ้าทอจ้วง”

ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐและเอกชนในกว่างซีได้บูรณาการความร่วมมือในการอนุรักษ์และสืบทอดผ้าไหมจ้วงจิ่น โดยภาครัฐคอยเป็น ‘พี่เลี้ยง’ ที่ให้การสนับสนุนด้านนโยบายและแพลตฟอร์มการขาย ส่วนภาคเอกชนเป็น “ทายาท” ที่คอยขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์และพลิกโฉมผ้าไหมจ้วงจิ่นให้มีความทันสมัย และเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมจ้วงจิ่น

ปรมาจารย์ด้านหัตถศิลป์ผ้าไหม “จ้วงจิ่น” อย่างคุณถาน เซียงกวาง (Tan Xiangguang/谭湘光) เป็นหนึ่งในผู้ที่ทุ่มเทเวลาเกือบทั้งชีวิตในการทำงานเพื่อสืบทอดผ้าไหมจ้วงจิ่น เธอได้ปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องทอผ้าไหมจ้วงจิ่นโบราณให้ผลิตผลงานได้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 3 เมตร จากเดิมที่ทำได้เพียงวันละ 30 เซนติเมตรเท่านั้น และเครื่องทอผ้าดังกล่าวยังสามารถทอผ้าไหมจ้วงจิ่นหน้ากว้างได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เมตร จากเดิมที่ต้องแยกทอผ้าเป็นชิ้นก่อนค่อยเย็บติดเข้ากัน

ชีวิตหลังเกษียณจากโรงงานผลิตผ้าไหมจ้วงจิ่น คุณถานฯ ได้เปิดสตูดิโอจัด Workshop เพื่อเป็นฐานการฝึกอบรม การออกแบบ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมถึงการผลิตผ้าไหมจ้วงจิ่นอีกด้วย

อีกหนึ่งความน่าสนใจ คือ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ “จ้วงจิ่น” ให้มีคุณภาพและมูลค่าเพิ่ม และการนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ ไปต่อยอดพัฒนาการผลิตสินค้าที่ใช้ผ้าไหม “จ้วงจิ่น” ในเชิงพาณิชย์ให้กับคนในชุมชน โดยการนำผ้าไหมมาประยุกต์ใช้ให้เกิดความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน ทำให้สินค้าตอบโจทย์ความต้องการของตลาดตามสมัยนิยม แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ในแบบฉบับ ‘ความเป็นจ้วง’

คุณหลาน เผยเหวิน (Lan Peiwen/兰培文) หนุ่มยุค 90’s ผู้ก่อตั้งบริษัท Guangxi Zhuanghong Culture Development Co., Ltd. (广西壮宏文化发展有限公司) ได้ปรับปรุงผ้าไหมจ้วงจิ่น ทั้งลวดลาย สีสัน ความคงทน ความหนาและประเภทวัสดุ เพื่อให้เข้ายุคเข้าสมัยและตอบโจทย์การใช้สอยของคนรุ่นใหม่ ทั้งด้านกายภาพ (ใช้ได้จริง) และด้านจิตใจ (ความพึงพอใจถูกใจ) อย่างเช่น การเลือกใช้เส้นไหมไล่เฉดสี การใช้ลวดลายทรงเรขาคณิตที่เรียบง่าย แทนลายผ้ารูปทรงเรขาคณิตแบบดั้งเดิมที่มีสีสันฉูดฉาดและลวดลายซับซ้อน

การแหวกขนบธรรมเนียมเดิม ๆ ที่นิยมนำ “จ้วงจิ่น” มาผลิตเป็นชุดเครื่องนอน ปลอกผ้านวม ด้วยการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่เป็น  “ทางรุ่ง” ของสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น ผ้าอุ้มเด็ก กระเป๋าถือ ผ้าพันคอ รองเท้าส้นสูง ของตกแต่งบ้าน สายห้อยมือถือ โคมไฟตั้งโต๊ะ เนกไท กล่องลิปสติก ตุ๊กตา ต่างหู ปกสมุด อุปกรณ์ป้องกันการกระแทกของมือถือและแท็บเล็ต

การใช้เครื่องมือสนับสนุนผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงของลูกค้าได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกจากการสร้างแบรนด์ผ้าไหมจ้วงจิ่นแล้ว การเปิดร้านออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Taobao และ Wechat ช่วยให้ผู้ซื้อสามารถสั่งซื้อได้ง่าย การทำ Live-Streaming และการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้ชมผ่านการเล่าเรื่องราว (Storytelling) โดยถ่ายทอดออกมาเป็นคลิปวิดีโอบนแพลตฟอร์ม Douyin (Tiktok เวอร์ชั่นจีน)

การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าไหม “จ้วงจิ่น” เชื่อมโยงคลัสเตอร์การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมจ้วงจิ่นสู่แหล่งท่องเที่ยว อาทิเช่น การนำผ้าไหมจ้วงจิ่นและผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมจ้วงจิ่นมาใช้ตกแต่งสถานที่การจัดงานอีเวนท์ หรือเป็นของที่ระลึกสำหรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการ หรือร่วมงานกิจกรรมในโอกาสต่าง ๆ เพื่อเปิดประสบการณ์ถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ ‘จ้วง’ และเสริมสร้างเสน่ห์ของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าไหมจ้วงจิ่นในแหล่งท่องเที่ยว

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานหลายภาคส่วนของไทยมีความพยายามในการส่งเสริมการสวมใส่ผ้าไทย และผ้าพื้นเมืองอย่างแพร่หลาย และได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าพื้นเมืองให้มีความทันสมัย เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย สอดคล้องกับกระแสของวงการแฟชั่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าภูมิปัญญาไทย มุ่งยกระดับอุตสาหกรรม Soft Power ของไทยไปสู่ตลาดโลก ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน จึงเห็นว่า แนวทางการพัฒนาผ้าไหมจ้วงจิ่นของกว่างซี ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การผลิต และการจำหน่าย น่าจะเป็นอีกแบบอย่างที่ดีสำหรับภาคธุรกิจไทยในการอนุรักษ์และสืบสานผ้าทอพื้นเมือง และยังจะเป็นโอกาสต่อยอดไปสู่การขยายตลาดในประเทศจีน

โดยที่ “ประเทศไทย” เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวของชาวจีน การบูรณาการความร่วมมือของธุรกิจผ้าทอไทยกับภาคธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่การท่องเที่ยวน่าจะเป็นสิ่งที่ดี โดยสามารถนำผลิตภัณฑ์ผ้าทอของไทยที่มีดีไซน์เก๋สะดุดตาหรือมีอรรถประโยชน์ที่สามารถนำไปใช้งานได้ เช่น ประดับตกแต่ง หรือวางจำหน่ายในร้านอาหาร โรงแรม ร้านสปา ห้างสรรพสินค้า รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว จะสามารถช่วยกระตุ้นความต้องการและปูทางสู่การขยายตลาดต่อไปในอนาคต

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวจีนมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความเฉพาะตัว สร้างสรรค์ มาจากฝีมือที่มีความโดดเด่น และกระแส รักสุขภาพกับวิถีการคืนสู่ธรรมชาติ อย่างการใช้วัตถุดิบธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาผลิตเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค (เสื้อผ้าเส้นใยธรรมชาติ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่งบ้านที่เป็นวัสดุธรรมชาติและมีความเป็นเอกลักษณ์) จึงเป็นโอกาสในการเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มดังกล่าวของธุรกิจไทยในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผ้าไหมและฝ้ายได้ด้วย

ที่มา-ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน