นายชลธี นุ่มหนู นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก เปิดเผยข้อมูลฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ที่สำรวจราคาค้าส่งทุเรียนไทย และเวียดนาม จากตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 1-31 ธันวาคม 2566 พบว่า
วันที่ 1 ธันวาคม 2566 หมอนทองไทย 1 กล่องละ 6 ลูก ราคา 1,000-1,200 หยวน (1 หยวน ประมาณ 5 บาท) / หมอนทองเวียดนาม 1 กล่องละ 6 ลูก ราคา 900-1,000 หยวน / ก้านยาวเวียดนาม 1 กล่อง 3 ลูก ราคา 400 หยวน
**ปริมาณทุเรียนในตลาด 49 ตู้ / ไทย 27 ตู้ /เวียดนาม 22 ตู้
วันที่ 15 ธ.ค.66 หมอนทองไทย 1 กล่องละ 6 ลูก ราคา 900-1,000 หยวน (1 หยวน ประมาณ 5 บาท) / หมอนทองเวียดนาม 1 กล่องละ 6 ลูก ราคา 880-980 หยวน /ก้านยาวเวียดนาม 1 กล่อง 3 ลูก ราคา 370-400 หยวน
**ปริมาณทุเรียนในตลาด 40 ตู้ / ไทย 32 ตู้ /เวียดนาม 8 ตู้
วันที่ 29 ธ.ค.66 หมอนทองไทย 1 กล่องละ 6 ลูก ราคา 950-1,100 หยวน (1 หยวน ประมาณ 5 บาท) /หมอนทองเวียดนาม 1 กล่องละ 6 ลูก ราคา 500-520 หยวน / ก้านยาวเวียดนาม 1 กล่อง 3 ลูก ราคา 380-400 หยวน
**ปริมาณทุเรียนในตลาด 39 ตู้ / ไทย 25 ตู้ /เวียดนาม 14 ตู้
นายชลธี นุ่มหนู นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก บอกว่า หากดูข้อมูลการส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปยังตลาดในจีน จะเห็นว่าสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งที่ไทยส่งไปจีน นั่นแสดงให้เห็นว่า เวียดนามมีการพัฒนาคุณภาพทุเรียนส่งออกมากขึ้น ภาครัฐของเวียดนามเอาใจใส่กับผลผลิตทางการเกษตร ส่งเสริม และให้ความรู้กับเกษตรกร ที่สำคัญความได้เปรียบของเวียดนาม คือ มีชายแดนติดกับจีน เกษตรกรสามารถตัดทุเรียนคุณภาพ (แก่) แล้วส่งออกได้ทันที
ขณะเดียวกัน สิ่งที่เกษตรกรไทยจะต้องเร่งปรับตัว คือ ทำทุเรียนคุณภาพ ตั้งแต่ ตัด คัด ส่งออก ทุกขั้นตอนต้องสัมพันธ์กันทั้งหมด หากยังไม่นึกถึงคุณภาพทุเรียนส่งออก จะทำให้ตลาดปลายทางเสียหาย และผลสุดท้ายผลกระทบจะย้อนกลับมาที่ตัวเกษตรกรเอง
“เราพยายามรณรงค์มาโดยตลอดว่า ขอให้ทำทุเรียนคุณภาพ ไม่ตัดทุเรียนก่อนกำหนด เพราะจะทำให้มีทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดมาก เพราะหากต้นฤดูมีทุเรียนไม่ได้คุณภาพออกไป จะทำให้ทุเรียนทั้งประเทศจนถึงหน้าทุเรียนใต้ มีคำสั่งซื้อน้อยลง ตอนนี้เราจึงทำพื้นที่นำร่อง หมู่บ้านปลอดทุเรียนอ่อน” นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออกบอก
นายชลธี ยังย้ำด้วยว่า ชาวสวนทุเรียนไทยต้องมองเรื่องการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับของตลาด มีกระบวนการที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับมาถึงแหล่งผลิตได้ และยังยืนยันว่าทุเรียนไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดมาก หากทำให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดปลายทางต้องการ นอกจากนี้ยังอยากให้ภาครัฐของไทยเข้มงวดกระบวนการตรวจสอบคุณภาพ ก่อนที่จะมีการส่งออกไปยังต่างประเทศแบบเข้มงวด