ประกาศศักดา “ปลากัดไทย” ในตลาดสัตว์น้ำสวยงามระดับโลก

“ปลากัดไทย” ปลากัดเป็นปลาพื้นเมืองของไทยที่มักพบกระจายอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางและบางส่วนของภาคเหนือของประเทศ

“ปลากัด” มีรูปร่างเพรียวยาวและแบนข้าง หัวขนาดเล็ก ครีบก้นยาวจรดครีบหาง หางแบนกลม ใช้ปากฮุบอากาศในการหายใจโดยไม่ต้องผ่านเหงือกเหมือนปลาทั่วไป เกล็ดสากปกคลุมจนถึงหัว ริมฝีปากหนา ตาโต “ครีบอก”คู่แรกยาวใช้สำหรับสัมผัส

“ปลาตัวผู้” มีสีน้ำตาลเหลือบแดงและน้ำเงินหรือเขียว ครีบสีแดงและมีแถบสีเหลืองประ ในขณะที่”ปลาตัวเมีย”สีจะซีดอ่อนและมีขนาดลำตัวที่เล็กกว่ามากจนเห็นได้ชัด

แต่เดิมปลากัดที่พบในประเทศไทยมีอยู่เพียง 3 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ปลากัดไทย (Betta splendens) เนื่องจากมีครีบและสีสันที่สวยงาม ส่วนอีก 2 สายพันธุ์คือ ปลากัดอีสาน (Betta smaragdina) และปลากัดภาคใต้ (Bettaimbellis) เป็นสายพันธุ์ที่เลี้ยงไว้เพื่อกัดกันจึงไม่ได้รับความนิยม

SIAMESE FIGHTING FISH3
ปลากัดไทย

แต่ในระยะหลังได้มีการนำปลากัดมาผสมข้ามพันธุ์ ทำให้เกิดปลากัดที่มีลักษณะเฉพาะขึ้น ตัวอย่างเช่น ปลากัดหางสามเหลี่ยม (Delta-tailed) ปลากัดหางมงกฎ (Crown-tailed) ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งดวง (Half-moon-tailed) และปลากัดสองหาง (Double-tailed)

นอกจากนี้การผสมข้ามพันธุ์ยังทำให้เกิดการพัฒนาสีของปลากัดที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ปลากัดสีเดียวที่มีทั้งสีขาว สีแดง สีน้ำเงิน สีเขียว สีม่วง สีเหลือง สีส้ม สีทอง หรือปลากัดสีผสม เช่น เจ้าไตรรงค์ ปลากัดลายธงชาติไทยที่ชนะการประกวดระดับโลก และมีมูลค่ากว่าตัวละห้าแสนบาท

โอกาสผู้ประกอบการไทยในเวที “ปลากัดโลก

“ปลากัดไทย” เป็นสัตว์น้ำส่งออกที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างชาติและกลายเป็นอีกหนึ่งทูตวัฒนธรรมที่สร้างชื่อให้กับประเทศไทย ประเทศไทยส่งออกปลากัดไปกว่า 80 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สิงคโปร์ จีน อิหร่าน เป็นต้น โดยส่งออก”ปลากัด” เฉลี่ยมากกว่า 20 ล้านตัวต่อปี สร้างรายได้ให้ประเทศปีละกว่าพันล้านบาท

การสร้างโอกาสให้ลูกค้าทั่วโลกเข้าถึงปลากัด เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยประสบความสำเร็จในการส่งออกปลากัด เจ้าของ สิรินุช เบตต้า ฟาร์ม บอก

“เมื่อก่อนตอนทำฟาร์มแรก ๆ ไม่ได้ทำตลาดเอง พอเลี้ยงได้ก็ติดต่อพ่อค้ามาซื้อเหมือนที่เกษตรกรคนอื่น ๆ ทำ แต่เรามาคิดใหม่ว่าเราจะรอให้ตลาดมาหาเราเสมอไปหรือ ทำไมเราไม่วิ่งไปหาตลาดเองบ้าง”

กลยุทธ์ “การสร้างโอกาสให้ลูกค้าทั่วโลกเข้าถึงปลากัด” ที่ สิรินุช ใช้คือ การเดินสายประกวดปลากัดทั้งในเวทีระดับประเทศและระดับนานาชาติ

สำหรับแนวโน้มตลาดปลากัดในเวทีโลกนั้น สิรินุช มองว่า ตลาดยังเติบโตต่อเนื่องและไปได้ดี ตลาดปลากัดจะเปิดกว้างขึ้น เห็นได้จากยอดสั่งซื้อที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และสถิติตัวเลขการส่งออกปลากัดของกรมประมงที่เพิ่มขึ้นในทุกปี เป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรไทยตอนนี้ที่จะเลี้ยงปลากัดเพื่อส่งออก

จากประสบการณ์สู่ความสำเร็จ สิรินุช มีเคล็ดลับที่อยากจะฝากถึงผู้ที่สนใจเลี้ยงปลากัดส่งออก

อย่างแรกเลยต้องมีความชอบก่อน เพราะการเลี้ยงปลากัดไม่ใช่งานที่ง่าย ต้องอาศัยความอดทน ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสายพันธุ์ การผสมพันธุ์ การเพาะเลี้ยง โรคปลา หรือแม้แต่เรื่องการตลาด

ที่สำคัญคือ ต้องมองกระแสตลาดให้ออกว่า “ปลากัด” แบบไหนกำลังได้รับความนิยม โดยอาจไปศึกษาตามตลาดนัดปลาสวยงาม เช่น สวนจตุจักร หรือตลาดต่างประเทศจากเว็บไซด์ต่าง ๆ เพื่อเป็นไกด์ให้เราหาพ่อแม่พันธุ์ปลากัดมาเพาะเลี้ยงให้ได้รุ่นลูกที่ตรงกับความต้องการของตลาดต่อไป

เสริมจุดเด่นปลากัดไทยด้วย “ไรแดง”

จุดเด่นของ “ปลากัดไทย” ที่แตกต่างจากปลาสวยงามขนาดเล็กชนิดอื่นในท้องตลาด คือ ลักษณะของครีบลำตัวและครีบหางที่มีความหลากหลายทั้งแบบยาว แบบสั้น แบบคู่ หรือแบบเดี่ยว รวมไปถึงสีสันที่มีความสวยงามฉูดฉาดสะดุดตา โดยปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ปลากัดสามารถแสดงจุดเด่นต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ คือ อาหารที่ใช้ในการเพาะเลี้ยง

SIAMESE FIGHTING FISH4 1024x576 1

ดร.เอื้ออารี สุขสมนิตย์ หัวหน้าแผนกวิชาประมง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี และผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงปลากัด ให้ข้อมูลว่า สารอาหารที่ปลากัดได้รับในช่วงตัวอ่อนจนถึงช่วงโตเต็มวัยจะส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาสีและครีบในธรรมชาติ “ปลากัด” จะกินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร “ไรแดง” คือของโปรดอันดับต้น ๆ ของปลากัดที่มีสารอาหารสำคัญครบถ้วน ซึ่ง “ไรแดง”มีหลายประเภท ทั้งไรแดงสยาม ไรแดงเล็ก และไรแดงเทศ

“ไรแดง” เป็นไรน้ำที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ผลจากการศึกษของคณะอาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี ซึ่งได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวทช. ระบุว่าสารอาหารที่ได้จากไรแดงประกอบด้วย โปรตีน 65-70% ไขมัน 7-10% และยังมีกรดอะมิโนสำคัญครบทั้ง 10 ชนิด จึงทำให้ “ไรแดง “เหมาะอย่างยิ่งในการนำไปใช้เป็นอาหารเพาะเลี้ยงเพื่อเสริมจุดเด่นปลากัด

เมื่อก่อนเกษตรกรจะไปช้อนไรแดงจากบริเวณแหล่งน้ำเสียต่าง ๆ เช่น น้ำเสียจากชุมชน น้ำเสียจากโรงฆ่าสัตว์ หรือน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะมี “ไรแดง “หลายประเภทอยู่รวม ๆ กัน แต่ละที่ก็จะมีปริมาณและคุณภาพ “ไรแดง”ที่แตกต่างกัน บางครั้งก็อาจจะมีเชื้อโรคและปรสิตติดมากับไรแดงด้วย ดร.เอื้ออารี กล่าว

แหล่งที่มามีผลอย่างมากต่อคุณภาพของ “ไรแดง” การใช้ “ไรแดง” จากแหล่งน้ำเสียธรรมชาติมักพบการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรคและปรสิตต่าง ๆ เช่น โพรโทซัวกลุ่ม Epistylis sp. ซึ่งหากนำไปใช้เป็นอาหารปลากัด อาจทำให้ปลาเป็นโรคตายได้ ปัจจุบันเกษตรกรจึงนิยมใช้ไรแดงจากฟาร์มเพาะเลี้ยงมาเป็นอาหารปลากัดแทน เพราะมีคุณภาพสูงกว่า

ดร.เอื้ออารี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเริ่มมีเกษตรกรหันมาเพาะเลี้ยง “ไรแดง “ในเชิงธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการของตลาดสูง ทั้งฟาร์มกุ้ง ฟาร์มปลาน้ำจืด น้ำเค็ม หรือแม้กระทั่งฟาร์มปลากัด

ขอขอบคุณ ข้อมูลจากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร ( สท. )