สภาฯ เอกฉันท์ 416 เสียง รับหลักการร่างแก้ไข พ.ร.ก.ประมง- แก้กฎหมายให้สอดรับประมงพื้นบ้าน

วันที่ 22 ก.พ. 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเอกฉันท์ 416 เสียง ให้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และมีร่างกฎหมายในทำนองเดียวกันอีก 7 ฉบับที่ สส.เป็นผู้เสนอ

S 13623327

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า เนื่องจากพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับอาชีพประมงในประเทศไทย จึงสมควรแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น สอดคล้องกับหลักการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของผู้ประกอบอาชีพประมงดยสุจริต และให้สอดคล้องกับวิถีประมงพื้นบ้าน โดยไม่ขัดต่อหลักการไอยูยู อาทิ การเพิ่มบทนิยามประมงพื้นบ้าน, การยกเลิกบทบัญญัติห้ามผู้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง, การแก้ไขเพิ่มเติมการห้ามดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงให้ผิดไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต, การเพิ่มหลักเกณฑ์การขออนุญาต และการอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทย, การยกเว้นให้สามารถใช้อวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรทำการประมงในตอนกลางคืน รวมถึงการปรับปรุงบทกำหนดโทษ และอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

โดยร้อยเอกธรรมนัส ยืนยันว่า รัฐบาลคำนึงถึงชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด ที่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีพระราชกำหนดการประมง ประเทศไทยถือเป็นเจ้าสมุทร ทำรายได้มหาศาล แต่พระราชกำหนดที่ออกมา ทำให้ชาวประมงมีหนี้ และมีคดีติดตัว จึงขอให้สภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกันรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อชาวประมงไทยทั้ง 22 จังหวัด

ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เห็นว่า ประเทศไทยส่งออกประมง 200,000 ล้านบาท แต่ส่งออกไปยุโรปเพียง 6.7% เท่านั้น แต่คนที่ต้องรับกรรมคือ ประชาชนที่ไม่ได้ส่งออกสินค้าประมงไปยุโรป ซึ่งคนส่งออกไม่ได้รับโทษ แต่คนที่รับโทษไม่ได้ส่งออก ซึ่งเป็นความอยุติธรรมตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา จึงวันนี้ จึงเป็นนิมิตหมายทุกคน ทุกพรรค จะร่วมกันผ่านกฎหมายนี้ ตั้งคณะกรรมาธิการ และเร่งผ่านกฎหมายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะร่างกฎหมายประมงฉบับนี้ นำเข้าสภา ตั้งแต่ 21 เมษายน 2558 แล้ว

จากนั้น ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่ง จำนวน 37 คน เพื่อพิจารณาปรับแก้ ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาต่อในวาระที่ 2-3 โดยที่ประชุม ได้มีมติให้ใช้ร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีเป็นร่างกฎหมายหลักในการพิจารณา