“สุรเดช ยะสวัสดิ์” ส่งสารถึงบ้านใหญ่พะเยา มาเสนอตัวร่วมทำงาน ไม่ได้มาแข่งขัน

เรื่องเล่าข่าวเกษตรจะเริ่มมีความเคลื่อนไหวการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 2567 ในคอลัมน์ “เรื่องเล่าสว.67” และจะนำเสนอภายใต้กรอบและขอบเขตที่ระเบียบการเลือกตั้งสว.67 ของคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะงดนำเสนอเอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร สว.3 มาเผยแพร่ในพื้นที่ของเรื่องเล่าข่าวเกษตรอย่างเด็ดขาด เพราะเอกสารสว.3 เป็นเอกสารต้องห้ามในการเผยแพร่ผ่านสื่อ หรือสถานที่สาธารณะใดๆ ตามระเบียบการเลือกตั้งของ กกต.

67662182 2357428804332861 1658816382323654656 n

เนื้อหาคอลัมน์ “เรื่องเล่าสว.67” จะมุ่งเน้นไปที่ผู้สมัครสว.ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการเกษตร และตัวแทนเกษตรกรเป็นหลัก เลือกตั้งสว. 67 ครั้งนี้ กลุ่มที่น่าจะเกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรโดยตรงก็น่าจะมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก และกลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง

ส่วนกลุ่มอื่นที่น่าจะเกี่ยวข้องบ้าง ก็เกือบทุกกลุ่ม เพราะเกษตรกรรม คือ ภาคการผลิตหลักของประเทศ ที่มีทั้งเกษตรกร นักวิจัย ข้าราชการ หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น

แต่ว่าที่ผู้สมัครรายแรกที่จะพูดถึง คือ คุณสุรเดช ยะสวัสดิ์ อดีตสว.พะเยา เมื่อการเลือกตั้งปี 2543 และอดีตส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อแผ่นดิน เมื่อปี 2550 ที่วันนี้เปิดตัวตัดสินใจลงสมัครในพื้นที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ในกลุ่มผู้สูงอายุฯ เพราะเป็นกลุ่มที่ยุ่งยากน้อยสุดเรื่องเอกสารคุณสมบัติของผู้สมัคร  

คุณสุรเดช เป็นผู้สมัครที่เกี่ยวข้องกับแวดวงเกษตรกรรมแบบเหมือนจะอ้อมๆ แต่ก็ตรงดิ่งไปที่ผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงเกษตรฯ เพราะเลือกลงสมัครที่จังหวัดพะเยา พื้นที่ไข่แดงของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอกธรรมนัส  พรหมเผ่า แม้การเลือกตั้งสว.จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในพื้นที่ แต่การลงสมัครในจังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นฐานทางการเมืองของร้อยเอกธรรมนัส ทำให้คุณสุรเดชถูกตั้งคำถามว่า ทำไมเลือกพื้นที่นี้

เพราะแม้คุณสุรเดช จะชนะการเลือกตั้งสว.พะเยา เมื่อปี 2543 ด้วยคะแนนเกินแสน แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ที่ห่างเหินพื้นที่ไปนานกว่า10 ปี อะไรคือความมั่นใจที่ตัดสินใจลงสมัครที่นั่น และจะฝ่าด่านหินของผู้สมัครเจ้าของพื้นที่ และผู้สมัครในเครือข่ายอื่นๆได้หรือไม่ ทำไมไม่ลงสมัครในกรุงเทพมหานคร

“มีคนถามผมเยอะ และบอกว่า การเมืองพะเยาเปลี่ยนไปมากแล้ว ไม่ได้มีแค่ตระกูลตันบรรจง หรือตระกูลไชยณรุณ แต่การเมืองบ้านใหญ่ในพะเยาตอนนี้เบ็ดเสร็จอยู่ที่กลุ่มเดียวแล้ว”

คุณสุรเดชบอกว่า การตัดสินใจกลับมาสมัครที่พะเยา สาเหตุหลัก คือ เขาเคารพคะแนนเสียงแสนกว่าคะแนนของคนพะเยาที่เคยเลือกเขาเมื่อปี 2543

“ผมทรยศต่อคะแนนเสียงของคนพะเยาที่เคยเลือกผมไม่ได้ ครั้งนั้นผมเป็นคนต่างถิ่น แต่ได้รับความรัก ความเอ็นดูจากคนพะเยาให้ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนนเกินแสน เมื่อจะต้องลงสมัครอีกครั้ง จะให้ผมไปลงพื้นที่อื่นได้ยังไง”

คุณสุรเดชยืนยันว่า การเลือกตั้งรอบนี้ เราไม่รู้เลยว่า ใครจะเป็นคนเลือกเรา เพราะจนกว่าวันรับสมัครสิ้นสุดลง จนกกต.ประกาศรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ วันนั้นถึงจะรู้ว่า โหวตเตอร์แต่ละคนในกลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นใคร และก็มีเวลาและช่องทางในการแนะนำตัวต่อผู้สมัครที่มีสิทธิ์เป็นโหวตเตอร์น้อยมาก

“ดูเผินๆก็ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองระบบบ้านใหญ่ ดูเผินๆผู้สมัครที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกกันเองน่าจะมีอิสระในการตัดสินใจ เพราะไม่มีใครรู้ว่า ใครเลือกใคร นอกจากตัวเอง แต่ถามว่า การเมืองในพื้นที่มีส่วนบ้างหรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่า มีส่วนบ้าง”

คุณสุรเดช จึงอยากสื่อสารผ่านไปยังทุกๆกลุ่มที่จะลงสมัครว่า การเลือกที่จะลงสมัครที่พะเยา ไม่ได้มาเพื่อแข่งขัน หรือมาเป็นคู่ต่อสู้ในทางการเมืองกับใคร แต่มาเพื่อเสนอตัว เสนอตัวเข้าร่วมงาน เสนอตัวมาพัฒนาพะเยา เสนอตัวมาทำงานที่ยังคั่งค้างอยู่ให้สำเร็จ

“ผมเสนอตัวมาร่วมทีม เพราะโดยประสบการณ์การทำงานของผม ทั้งในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวุฒิสภา รวมถึงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคและประธานส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดินในอดีต พร้อมสายสัมพันธ์ที่มีกับคนในแวดวงการเมือง ธุรกิจ และต่างประเทศ ตลอดจนเวลาทำงานที่พร้อมทุ่มเท เพราะไม่มีภาระครอบครัว เชื่อว่า จะทำประโยชน์ให้กับพะเยาได้อย่างเต็มที่”

เขาย้ำว่า ไม่รู้หรอกว่าใครจะเข้ามาเลือกเขาบ้าง แต่อยากฝากถึงผู้ใหญ่ในเมืองพะเยา ผู้คนในพะเยาว่า การกลับมารอบนี้ ตั้งใจมาทำงานให้กับคนพะเยาจริงๆ ไม่เคยคิดจะแข่งขันกับใคร มาแบบมิตรมากกว่ามาแบบคู่แข่ง

สำหรับคุณสุรเดช เป็นทายาทคนเดียวของพลตำรวจเอกวิฑูรย์  ยะสวัสดิ์ หรือพลโทวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ อดีตผู้บัญชาการกองกำลังผสม 333 ที่เข้าไปปฏิบัติการลับในลาว เจ้าของฉายา เทพ 333 และเป็นนายทหารที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองในช่วงเหตุการณ์สำคัญ เมื่อเดือนตุลาคม 2516 และช่วงโศกนาฏกรรมเดือนตุลาคม ปี 2519 เพราะเป็นนายทหารที่มีบารมี รวมถึงมีกองกำลังสนับสนุนที่จะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองได้

แต่สุดท้ายพลตำรวจเอกวิฑูรย์ เลือกที่จะไม่ทำ แต่ตัดสินใจเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ในต่างประเทศแทน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น  

บารมีของพลตำรวจเอกวิฑูรย์ทั้งในแวดวงการทหาร และการเมือง ทำให้คุณสุรเดชทายาทคนเดียวเลือกจะเล่นการเมืองแบบเรียนลัดได้ แต่คุณสุรเดชบอกว่า เขาเลือกแนวทางประชาธิปไตย ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งดีกว่า

“การเลือกตั้งปีนั้น เลือกภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งได้รับการยอมรับว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดี และเป็นประชาธิปไตย เพราะจากการร่วมกันยกร่างของประชาชนทั้งประเทศ สว.ทุกคนที่ได้รับเลือก ได้คะแนนเสียงจากประชาชนโดยตรง ผมตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกเดินแนวทางนี้”  

คุณสุรเดช เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในประเด็นที่มาของส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และอยากให้ร่วมกันแก้ โดยเฉพาะผู้ที่จะผ่านการเลือกตั้งรอบนี้เข้าไป

ส่วนตัวคุณสุรเดชเองหากได้ลงสมัคร และมีสิทธิ์โหวต เขาจะเลือกผู้สมัครสว.ที่มีคุณสมบัติ 5 ข้อ คือ  เก่ง พร้อม ดี มีอุดมการณ์ และสามารถประสานประโยชน์ เพื่อประเทศชาติและประชาชนได้