นายกฯหนุนส่งออก เพิ่มมูลค่า “สินค้าภาคเกษตรไทย”

นายกฯ ยืนยันรัฐบาลมุ่งมั่นแก้ไขปัญหา เร่งหามาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด กำชับหน่วยงานสนับสนุนภาคการส่งออก เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ “สินค้าภาคการเกษตรไทย”

วันนี้ (5 กรกฎาคม 2565) ณ ทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม “คณะรัฐมนตรี” ถึงสถานการณ์วิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน

ทั้งนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกัน โดยรัฐบาลได้บริหารจัดการอย่างเต็มที่เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์วิกฤตพลังงานของโลกซึ่งรัฐบาลมีแผนยุทธศาสตร์พร้อมรองรับสถานการณ์และแก้ไขปัญหา ทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะไม่ประสบกับปัญหาวิกฤตการณ์การขาดแคลนพลังงานและอาหาร

S 17326099
ข้าวไทย

นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจขึ้นเพื่อเข้ามาบริหารสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เร่งรัดจัดการมาตรการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือประชาชนให้ได้โดยเร็วที่สุด

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลยินดีรับฟังปัญหา ในขณะที่การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามขั้นตอน กระบวนการตามหลักกฎหมายและหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง บางโครงการได้ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่บางโครงการอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการซึ่งอาจจะมีความล่าช้าบ้างแต่ได้เร่งรัดให้ดำเนินการเพื่อการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว

ทั้งนี้ รัฐบาลมีการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ เพื่อการบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง และสอดคล้องเหมาะสมกับกับสิ่งที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้กำชับเรื่องการขนส่งสินค้าไปต่างประเทศ โดยจะต้องเร่งส่งเสริมสนับสนุนด้านการส่งออกของ “สินค้าภาคการเกษตรของไทย” เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย และ “สินค้าเกษตรของไทย” นอกจากปัจจัยด้านการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA แล้ว

อีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยให้สินค้าเกษตรของไทย สามารถรับมือกับความท้าทายด้านการส่งออกได้ดี คือการพัฒนาหรือผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานมีความสอดคล้องกับกฎระเบียบแต่ละประเทศกำหนดและมีความแตกต่างจากคู่แข่งหรือตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายในแต่ละประเทศ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับการส่งออก “สินค้าเกษตรของไทย” เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง