ท่องเที่ยวเชิงเกษตร รายได้เพิ่ม 19.26 % กรมส่งเสริมการเกษตร ดันแนวทางพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนร่วม หวังเพิ่มรายได้จากต้นทุน 4 ด้าน

S 71933960

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง เน้นให้มีการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งปัจจุบันมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่กรมส่งเสริมการเกษตรให้การสนับสนุน จำนวน 480 แหล่ง โดยในปี 2565 มีวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน จำนวน 77 แหล่ง และปี 2566 จำนวน 56 แหล่ง มีรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเข้าร่วมโครงการคิดเป็นร้อยละ 19.86 (ในปี 2565) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.26 (ในปี 2566) แสดงให้เห็นถึงอัตราการเติบโตที่เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งมั่นพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยชุมชนมีส่วนร่วมให้เกิดความสมดุล ยั่งยืน และสามารถแบ่งปันความประทับใจส่งต่อให้กับนักท่องเที่ยวได้ จากต้นทุน 4 ด้าน เพื่อให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นควบคู่กับการทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 1) ต้นทุนมนุษย์ (เกษตรกร) 2) ต้นทุนสถาบัน/องค์กร (ชุมชน วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน) 3) ต้นทุนทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมทางการเกษตร และ 4) ต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน คือ เกษตรกร ชุมชน วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ต้องมีความพร้อมในการจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติของชุมชน สร้างจุดแข็งทางการตลาดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมทางการเกษตร วิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาหารพื้นถิ่น บริหารจัดการตามศักยภาพของชุมชน มีผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว สร้างรายได้เพิ่มจากการท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยชุมชนมีส่วนร่วมควบคู่กับการทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

S 71933964

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยชุมชนเกษตรจะกลายเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยการสร้าง Mindset ให้กับคนในชุมชนมีความสุขกับการดำรงชีวิตด้วยวิถีชีวิตของตนเองที่เป็นอยู่ ซึ่งความสำเร็จของการท่องเที่ยวชุมชนไม่เพียงแต่ช่วยกระจายรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการแสดงให้เห็นถึงความสวยงามของทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ดังนั้น การท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยชุมชนมีส่วนร่วม จึงเป็นเครื่องมือในการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถของประเทศ

S 71933962

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังมีแนวคิดในการส่งเสริม Food Culture (อาหารเชิงวัฒนธรรม) ซึ่งเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางด้านอาหาร การใช้วัตถุดิบพื้นถิ่นในการส่งเสริมอาหารเชิงวัฒนธรรม เช่น การนำสมุนไพรไทย อาทิ พริก โหระพา กระเทียม ซึ่งมีรสชาติและกลิ่นที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะมาใช้เป็นส่วนส่งเสริมอาหารเชิงวัฒนธรรม ดังนั้น การท่องเที่ยวจึงเป็นการแบ่งปันทั้งทางด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เพื่อสร้างความประทับใจ ความสุข และประสบการณ์ที่น่าจดจำที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นอย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ของเกษตรกรจากการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป

S 71933963