นายกฯ สั่งผลักดันขยายตลาด”สินค้าเกษตรไทย”ในญี่ปุ่น

วันที่ 8 ก.ค. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันทำงานผลักดันการขยายตลาด “สินค้าไทยในประเทศญี่ปุ่น” อย่างต่อเนื่อง จนเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ญี่ปุ่นเป็น “ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร” อันดับ 2 ของไทย โดยระหว่างปี 2562-2564 ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 11.35 ของมูลค่าการส่งออก “สินค้าเกษตร” ไปตลาดโลก และที่ผ่านมาไทยได้ดุลการค้าสินค้าเกษตรกับญี่ปุ่นมากกว่า 130,000 ล้านบาท

630500000015
สินค้าเกษตรไทย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะผู้แทนไทย ได้เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นเพื่อหารือร่วมกับภาคเอกชนด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้าเกษตรของไทยในญี่ปุ่น พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการ ศึกษาแนวโน้มตลาด และรสนิยมของผู้บริโภค เพื่อผลิต “สินค้าเกษตร” และอาหารให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต”

ทั้งนี้ เนื่องจากมีโอกาสและความต้องการเป็นช่องทางให้ไทยขยายการส่งออก “สินค้าเกษตร” และอาหารไปยังตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีช่องทางในการเพิ่มความร่วมมือด้านต่าง ๆ อาทิ ร่วมลงทุนด้านเกษตรอุตสาหกรรม เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีเกษตร พัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางเรือและทางอากาศให้ต้นทุนและเวลาลดลง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขยายความร่วมมือด้านการพัฒนาอาหารแห่งอนาคต(Future Food) ร่วมกับ ม.ทากะซากิ (Takasaki City University of Economics)ในจังหวัดกุนมะและบริษัท ฟิวเจอร์นอท อิงค์ (Futurenaut Inc.) ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารจากแมลงโดยใช้ผงจิ้งหรีดนำเข้าจากประเทศไทยไปแปรรูป เช่น ขนมแครกเกอร์ โปรตีนแท่ง เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อร่วมมือวิจัยและพัฒนาแมลงต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากโปรตีนทางเลือก สอดรับแนวทางองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO: Food and Agriculture Organization) ที่ประกาศให้แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก โดยตลาดอาหารจากแมลงนั้นมีการเติบโตสูงในญี่ปุ่น จึงถือเป็นโอกาสไทยในการขยายตลาด สร้างงาน สร้างรายได้แก่เกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีฟาร์มแมลงของเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และบริษัทเอกชนกว่า 1 แสนฟาร์ม ส่งออกแมลงทั้งในทวีปอเมริกาใต้ ยุโรปและเอเซีย

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ทำงานร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกระทรวงเกษตร ป่าไม้ ของญี่ปุ่น ผลักดันการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) สินค้าท้องถิ่นไทยในตลาดญี่ปุ่นจำนวน 3 รายการ ได้แก่ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง จังหวัดเชียงราย และสับปะรดห้วยมุ่น จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายโอกาสทางการค้าให้กับสินค้า GI ไทยในตลาดต่างประเทศ สร้างรายได้แก่ชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยกว่า 1.2 พันล้านบาท โดยคณะผู้ตรวจสอบฯ จะเดินทางลงพื้นที่ดูแหล่งเพาะปลูกและแหล่งผลิตสินค้า GI ในไทยช่วงปลายปี 2565 นี้

“นายกรัฐมนตรีชื่นชมหน่วยงานเกี่ยวข้องที่ได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น และระหว่างประเทศ เพื่อกระตุ้น และขยายการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน รวมทั้งรับฟังความเห็นเกี่ยวกับปัญหา และข้อเสนอแนะโดยตรงจากผู้ประกอบการของไทยและญี่ปุ่น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการออกมาตรการที่มีประสิทธิภาพ พร้อมกำชับทุกฝ่ายร่วมพัฒนา และผลักดันภาคการเกษตรและสินค้าชุมชนของไทยอย่างต่อเนื่อง บูรณาการความร่วมมือในการส่งออกแมลงผงเพื่อตอบโจทย์เทรนด์อาหารแห่งอนาคต อีกทั้งส่งเสริมสินค้า GI ให้มีมูลค่าการตลาดเพิ่ม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และขยายช่องทางการตลาดให้กับสินค้า เพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิตสินค้าในชุมชน มุ่งหวังเกษตรกรและผู้ประกอบการชุมชนรายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้น” นายธนกรฯ กล่าว