กรมวิชาการเกษตรแจ้งข่าวดี “มะระไทย”ได้รีเทิร์นสู่ตลาดอียูอีกครั้ง หลังระงับส่งออกปี2562 เผยอียูยอมรับมาตรการกำจัดศัตรูพืชในมะระไทยประกาศขึ้นเว็บไซต์แล้ว ย้ำผู้ประกอบการต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ในแปลงปลูกจนถึงภายหลังการเก็บเกี่ยวในโรงคัดบรรจุ คาด”มะระไทย”พร้อมส่งออกได้กันยายน 2565
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้รับแจ้งจากจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรปว่า สหภาพยุโรปได้อนุญาตให้นำเข้ามะระจากไทยอีกครั้ง หลังระงับการส่งออกตั้งแต่ปลายปี 2562 เนื่องจากสหภาพยุโรปได้มีการปรับปรุงบัญชีรายชื่อพืช สินค้าพืช และวัสดุอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้สินค้าที่อยู่ภายใต้บัญชีดังกล่าวจากประเทศที่สามไม่สามารถส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้ จนกว่าจะได้รับการประเมินความเสี่ยง โดยครอบคลุมถึงมะระจากประเทศไทย ที่มีการระงับการส่งออกตั้งแต่ 14 ธันวาคม 2562 ซึ่งไทยเคยมีการส่งออกมะระไปสหภาพยุโรปในปี 2560 – 2562 ปริมาณ 23,700 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 1,092,000 บาท
กรมวิชาการเกษตรในฐานะเป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติของประเทศไทย จึงได้ดำเนินการส่งเอกสารข้อมูลมะระให้ DG SANTE พิจารณาประกอบการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชของผลมะระสดจากประเทศไทย โดยในระหว่างการพิจารณานั้น DG SANTE และกรมวิชาการเกษตรได้มีการติดต่อสื่อสารเพื่อแจ้งข้อมูลกันเป็นระยะ จนได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรปว่า DG SANTE ได้ประกาศ ปรับแก้การอนุญาตนำเข้ามะระจากฮอนดูรัส เม็กซิโก ศรีลังกา และไทยภายใต้ข้อกำหนดการนำเข้าเฉพาะเพื่อลดความเสี่ยงของโอกาสที่เพลี้ยไฟฝ้าย Thrips palmi Karny จะติดไปกับผลมะระส่งออก ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้แจ้งมาตรการทางเขตกรรมเพิ่มเติม เสนอ DG SANTE ตามที่ประกาศกำหนด และปัจจุบัน DG SANTE ได้ประกาศมาตรการที่กรมวิชาการเกษตรเสนอขึ้นบนเว็บไซต์ จึงทำให้ผลมะระสดของไทยสามารถส่งออกไปสหภาพยุโรปได้อีกครั้ง
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะส่งออกผลมะระสดไปยังสหภาพยุโรป จะต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ในแปลงปลูกจนถึงภายหลังการเก็บเกี่ยวในโรงคัดบรรจุ
โดยในแปลงปลูกของเกษตรกรต้องติดกับดักกาวเหนียวเพื่อดักจับเพลี้ยไฟตลอดวงจรการผลิต และมีตรวจสอบแปลงผลิตมะระอย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์ และมีการจดบันทึก
โดยต้องไม่พบอาการหรือร่องรอยการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ หากสงสัยว่ามีเพลี้ยไฟ ต้องกำจัดตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งต้องมีการกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องดูแลความสะอาดของแปลงปลูก เช่น ไม่ให้มีผลร่วง ผลเน่า ผลที่ถูกเข้าทำลาย หรือเศษซากพืช ในแปลง หากพบต้องนำออกจากแปลงและทำลายทิ้งทันที
นอกจากนี้ ผลมะระที่เก็บเกี่ยวแล้วต้องจัดการและขนส่งไปยังโรงคัดบรรจุในภาชนะที่มิดชิดป้องกันการเข้าทำลายซ้ำของเพลี้ยไฟ สำหรับการดำเนินการหลังเก็บเกี่ยวในโรงคัดบรรจุจะต้องทำความความสะอาดผลมะระด้วยการแปรงและล้างด้วยน้ำผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ
และต้องผ่านการสุ่มตัวอย่างเพื่อตรวจสอบศัตรูพืชจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรฐาน ISPM 31 ก่อนออกใบรับรองสุขอนามัยพืช เป็นต้น
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะส่งออกผลมะระสดไปสภาพยุโรป สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0 2940 6466-8 และ 0 2561 1680 คาดว่ามะระไทยจะสามารถส่งออกไปตลาดอียูได้ประมาณต้นเดือนกันยายน 2565 นี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว