ยื่นเร่งพิจารณาร่างกฎหมายประมง วอนรัฐบาลชะลอบังคับใช้กฎหมายประมง ม.57 ห้ามจับสัตว์น้ำเล็ก สร้างความเดือดร้อนชาวประมง

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายประมง ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอเร่งพิจารณา “ร่างกฎหมายประมง” สร้างความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพ วอนรัฐบาลชะลอบังคับใช้กฎหมายประมง มาตรา 57 ห้ามจับสัตว์น้ำเล็ก หวั่นสร้างความเดือดร้อนให้ชาวประมงเกินสมควร

นายแพทย์สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจาก นายดิเรก จอมทอง ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายประมงภาคประชาชน พร้อมคณะชาวประมงจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรีและจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาข้อ “กฎหมายประมง” ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยมีนายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)จังหวัดระยอง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ประสานงานในการยื่นหนังสือ

005
เร่งแก้ปํญหาชาวประมง

นายดิเรก กล่าวว่า ปัจจุบันเรือประมงไทยได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการจับสัตว์น้ำ ปัญหาแรงงาน ปัญหาความไม่ชัดเจนของกฎหมาย และปัญหาข้อกฎหมายประมงที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากต้องแบกรับโทษสูงเกินไปจนขาดความเป็นธรรมเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน สร้างผลกระทบต่อครอบครัวชาวประมงและกระทบต่อวิถีชีวิตชาวประมง

ดังนั้นตนและผู้แทนชาวประมงจาก 4 จังหวัด จึงมายื่นข้อร้องเรียนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมยื่น 3 ข้อเรียกร้อง ดังนี้

1. ขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรติดตามทวงถามรัฐบาลหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องว่าได้ปฏิบัติตามข้อสังเกตในรายงานของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎรแล้วหรือไม่ เนื่องจากทางเครือข่ายฯเห็นว่าพ้นกำหนดระยะเวลา 60 วันนับแต่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งข้อสังเกตให้รัฐบาลมาพอสมควรแล้ว

2. ขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรติดตามพิจารณาเร่งรัดการนำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ…. ที่ได้รับการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมแล้ว เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

และ 3.ขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งต่อรัฐบาลให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายตามข้อกำหนดของมาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำ หรือ นำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ขึ้นเรือประมงออกไปก่อน เพราะรัฐบาลต้องคำนึงถึงสภาพธรรมชาติและความหลากหลายของสัตว์น้ำ

รวมถึงเครื่องมือประมงในประเทศไทยยังไม่สามารถเลือกจับสัตว์น้ำเป็นรายชนิดได้อย่างชัดเจน เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตร้อนทำให้มีความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำมาก

ดังนั้นการทำประมงในแต่ละครั้งจึงสามารถจับสัตว์น้ำได้หลากหลายชนิด ซึ่งข้อสังเกตในรายงานของคณะกรรมาธิการก็ได้เสนอให้รัฐบาลดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมาตรา 57 นี้ไว้แล้ว จึงขอให้ทบทวนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อให้ชาวประมงสามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวได้โดยไม่มีอุปสรรค