กรมวิชาการเกษตรแถลงผลงานวิจัย“ตลาดนำการวิจัย” สู่เกษตรมูลค่าสูง สร้างมูลค่ากว่าหนึ่งล้านล้านบาท 

ครึ่งทศวรรษแห่งความสำเร็จ กรมวิชาการเกษตรแถลงผลงานวิจัย“ตลาดนำการวิจัย”สู่เกษตรมูลค่าสูงสร้างมูลค่ากว่าหนึ่งล้านล้านบาท

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมแถลงผลงานวิจัยสิ้นสุดปี 2559-2564 กรมวิชาการเกษตร “DOA Together for BCG and Food Security กรมวิชาการเกษตรร่วมใจ มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่เพื่อความมั่นคงทางอาหาร”

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จและสิ้นสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา  ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย SME รายใหญ่ และอุตสาหกรรมการเกษตร มูลค่ากว่าหนึ่งล้านล้านบาท โดยมีมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์กว่า 1.2 แสนล้านบาท ไม้และผลิตภัณฑ์ 1.5 แสนล้านบาท ข้าว 1.3 แสนล้านบาท ยางพาราและผลิตภัณฑ์ 1.4 แสนล้านบาท ทุเรียนและผลไม้สด 1.7 แสนล้านบาท ผลไม้แห้ง กล้ายไม้สด ผักสด และ ผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น ๆ กว่า 3 แสนล้านบาท

C031DCCC 7E1D 4577 8E73 268DC18FAEF1

ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตรไม่น้อยกว่า 900 เทคโนโลยี อาทิ พืชพันธุ์ใหม่ รองรับตลาดเฉพาะและภาคอุตสาหกรรม 16 ชนิด (49 พันธุ์) พืชท้องถิ่นที่มีศักยภาพในอนาคต 19 ชนิด พร้อมทั้งเทคโนโลยีการผลิตพืชท้องถิ่น 41 ชนิด พืช GI 9 ชนิด เพื่อพัฒนาเชิงการค้าและความมั่นคงทางอาหารด้านเครื่องจักรกลการเกษตร มีเครื่องจักรกลการเกษตรใหม่กว่า 50 ต้นแบบ อาทิ เครื่องพ่นแบบใช้แรงลมช่วยสำหรับพ่นป้องกันหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เครื่องหยอดเมล็ดพืชและปุ๋ยอัตโนมัติ โรงเรือนอัจฉริยะควบคุมสภาวะอากาศอัตโนมัติ เป็นต้น

การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเกษตรกรรม เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 20-50 % พัฒนาไปสู่ Web application ระบบพยากรณ์ผลผลิตไม้ผลเศรษฐกิจ ระบบให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน ระบบประเมินการระบาดของศัตรูมันสำปะหลัง

เตรียมพร้อมงานวิจัย รองรับวิกฤตภัยแล้งและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ สร้างเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว  โดยเฉพาะถั่วเหลืองที่มีความต้องการใช้ในประเทศสูงถึง 4.02 ล้านตัน สร้างเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ช่วยลดการนำเข้าถั่วเหลือง ร่วมมือกับภาคเอกชนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ของอาเซียน เชื่อมโยงการขับเคลื่อนผลการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน 

การแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง มีการปรับปรุงพันธุ์ทนทาน การใช้ท่อนพันธุ์สะอาดเพื่อควบคุมการระบาด การป้องกันการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดมีคำแนะนำให้คลุกเมล็ด การพ่นสารเคมี และพ่นชีวภัณฑ์ มีเครื่องพ่นแบบอุโมงค์ลมสำหรับพ่นป้องกันการแพร่ระบาด ช่วยลดการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรและค่าใช้จ่ายในการป้องกันกำจัดมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี 

ด้านนวัตกรรมใหม่ มีการพัฒนาชุดตรวจสอบศัตรูพืชแบบแม่นยำสูง วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชสำหรับการเจรจาเปิดตลาดสินค้า จัดทำมาตรการสุขอนามัยพืชในการนำเข้าส่งออกสินค้าพืช ซึ่งส่งผลต่อตลาดเมล็ดพันธุ์และตลาดสินค้าเกษตร มูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปี 

AF174DB7 A067 4F0A 9DE0 ED388696663F

การวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชเศรษฐกิจใหม่ คือ กัญชาเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ทั้งในด้านการพัฒนาสายพันธุ์ที่มี CBD หรือ THC สูง และกระท่อม รวมทั้งการวิจัยทางด้านเทคโนโลยีจีโนมิก เพื่อศึกษายีนที่เกี่ยวข้องกับสารสำคัญ มีตลาดยารักษาโรค สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหารทางเลือกรองรับ มูลค่ากว่าแสนล้านบาท  จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการพืชกัญชา กัญชง และกระท่อม แบบเบ็ดเสร็จ สายด่วน 1174 ให้ผู้สนใจสอบถามข้อมูล

ด้านสถานการณ์ส่งออกสินค้าพืช เพียง 5 เดือนแรกของปี 2565 มียอดการส่งออกกว่า 15.27 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 469,178.78 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 28.57% (เทียบกับ 5 เดือนแรกของปี 2564) สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าในการตรวจสอบคุณภาพการผลิตสินค้าพืชของประเทศไทย จับมือกับ กลุ่มพันธมิตรทั่วโลก เปิดตัวระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ “e Phyto” นำร่องเปิดใช้งานส่งออกพืช 22 ชนิดไปจีนพบกระแสดีเกินคาด สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ตั้งแต่ประเทศปลายทางจนถึงเกษตรกร  เป็นการอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ เปิดให้บริการครอบคลุมทุกสินค้าทุกประเทศทั่วโลก

มาตรการ GMP plus ให้โรงคัดบรรจุนำไปปฏิบัติเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด 19  ไปกับตู้สินค้า บรรจุภัณฑ์ และผลไม้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศจีน สร้างรายได้เข้าประเทศ โดยปี 2565 มีปริมาณการส่งออกระหว่าง 1 ก.พ. – 5 มิ.ย. 2565 (5 เดือนแรก) ปริมาณ 433,809.92 ตัน 

ด้านการอำนวยความสะดวกให้เกษตรกร จัดตั้ง “คลินิกกรมวิชาการเกษตรเคลื่อนที่” (DOA Mobile Clinic) บริการต่ออายุ ใบอนุญาต GAP ใบรับรองแหล่งผลิตพืขอินทรีย์ ให้คำปรึกษาทางด้านการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เกษตรกรสมัครใหม่และต่ออายุกว่า 2,500 ราย

A589BB85 18A7 4DBA BDE4 E110937016CB

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า “ท่านมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ได้กำชับให้เร่งเดินหน้างานวิจัยเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชสู่เป้าหมายเกษตรมูลค่าสูง เน้นการพัฒนาพันธุ์พืชที่มีศักยภาพสูง การใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบเกษตรอัจฉริยะ การแปรรูปสร้างมูลค่าและแบรนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่การผลิตพืช เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ“