จิ้งหรีด-แพะเนื้อ-โคขุน-หญ้าเนเปียร์ รายได้ดี มีอนาคต

นางรัชนีกร เงินแย้ม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึง “สินค้าเกษตรทางเลือกที่มีอนาคต” (Future Crop) ที่น่าสนใจ 4 สินค้า ได้แก่ จิ้งหรีด แพะเนื้อ โคขุน และหญ้าเนเปียร์ ซึ่งสามารถสร้างรายได้สูงกว่าการผลิตข้าว ยางพาราและมันสำปะหลัง ในพื้นที่ไม่เหมาะสมของ 4 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนกลาง คือ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ตามแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก

C1419A68 61C9 47D7 A1D8 1FED0E149B82
แพะเนื้อ

จากการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนสินค้าเกษตร Future Crop ทั้ง 4 ชนิด พบว่า สามารถเลี้ยงหรือปลูกเสริมทดแทนข้าว ยางพาราและมันสำปะหลัง ในพื้นที่ไม่เหมาะสมของพื้นที่เป้าหมายทั้ง 4 จังหวัดได้เป็นอย่างดี โดยหากจำแนกเป็นรายชนิด พบว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดจำหน่ายผลผลิตเองทั้งจิ้งหรีดสดและจิ้งหรีดต้มสุก ซึ่งจำหน่ายภายในประเทศและจำหน่ายให้กับผู้รวบรวมหรือพ่อค้าคนกลาง เพื่อส่งต่อให้กับตลาด Modern Trade และส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ออสเตรเลียและญี่ปุ่น

“จิ้งหรีด” กลายเป็นแหล่งโปรตีนมาแรงแห่งยุค และได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจังต่อเนื่อง นับตั้งแต่ได้รับการผลักดันให้เลี้ยงส่งออกไปตลาดอียู จีน และแคนาดา โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ปักธงนำร่องเริ่มต้นไว้ที่จังหวัดกาฬสินธุ์และมหาสารคาม จนจิ้งหรีดไทยสามารถตีตลาดดังกล่าวได้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดทั้งแช่แข็ง แปรรูปต้มบรรจุกระป๋องหรืออบบดเป็นโปรตีนผงผสมอาหาร

โดยในปี 2561 มีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดทั่วประเทศกว่า 20,000 ฟาร์ม มีกำลังการผลิตกว่า 700 ตัน/ปี รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท/ปี ปัจจุบันรัฐบาลยังได้มีการส่งเสริมให้ขยายพื้นที่เพาะเลี้ยงจิ้งหรีดแปลงใหญ่ได้มาตรฐานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้ “โครงการเกษตรฐานชีวภาพแมลงเศรษฐกิจใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เพิ่มเติมเพื่อผลักดันจิ้งหรีดไทยสู่ตลาดโลกอีกด้วย

ส่วนแพะเนื้อ เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตทั้งหมดให้แก่ผู้รวบรวม หรือพ่อค้าคนกลาง ทั้งในท้องถิ่นและต่างจังหวัดที่เข้ามารับซื้อ โดยผู้รวบรวม หรือพ่อค้าคนกลางจะมีการจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สปป.ลาว เวียดนาม มาเลเซีย


ด้าน โคขุน ปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ยังผลิตโคขุนไม่เพียงพอต่อความต้องการรับซื้อและยังคงมีพ่อค้ารายใหม่ ๆ เข้ามาติดต่อรับซื้ออย่างต่อเนื่องและหญ้าเนเปียร์ที่ สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี อายุการเก็บเกี่ยว 5 – 7 ปี กำไรเฉลี่ยที่ 33,311 บาท/ไร่ ทั้งนี้สินค้าเกษตรทางเลือกที่มีอนาคตทั้ง 4 ชนิดดังกล่าว เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง สามารถเลี้ยงปลูกเสริมหรือทดแทนข้าว ยางพาราและมันสำปะหลัง ในพื้นที่ไม่เหมาะสมได้จริง สร้างรายได้ดีให้กับเกษตรกร