
นายวันนา บุญกลม อายุ ๕๗ ปี
อยู่บ้านเลขที่ ๑๐๕ หมู่ที่ ๓ ตำบลห้วยไร่ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ
การศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ ๖
สถานภาพ หม้าย
อาชีพ เกษตรกร


คุณลักษณะส่วนบุคคล
นายวันนา บุญกลม เกษตรกรวัย ๕๗ ปี เป็นเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์ ทำนาอินทรีย์ผลิตข้าวที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนการใช้สารเคมี สามารถปลดหนี้สินครัวเรือนและสร้างความสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อม พื้นที่ทำการเกษตรสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานแก่เกษตรกรที่สนใจ ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชน

นายวันนา บุญกลม สามารถรวมกลุ่มเกษตรกร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ภายใต้ชื่อ “เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ” ขับเคลื่อนดำเนินการผลิตข้าวแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยใช้ความรู้ในการเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว การเตรียมดิน การปลูก การป้องกัน กำจัดโรคและศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว และกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและความต้องการของตลาด สร้างกระบวนการรวบรวมผลผลิตตรวจสอบคุณภาพ การสีข้าวเพื่อแปรรูปจากข้าวเปลือก เป็นข้าวสารตลอดจนการเก็บรักษาที่ได้มาตรฐานโดยบริหารจัดการร่วมกับสภาองค์กรชุมชนและเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ สมาชิกแกนนำของเครือข่ายมีการประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ถอดบทเรียนเพื่อวางแผนระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ การแปรรูป และการตลาดร่วมกัน ทำงานเชื่อมโยงกับเครือข่ายภาคีอื่น ๆ สมาชิกกลุ่มเครือข่าย วิสาหกิจชุมชน มีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะกันทุกปี ทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนและมีอำนาจในการเจรจาต่อรอง ด้วยความเป็นผู้ประพฤติและปฏิบัติตามกฎระเบียบ ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง วินิจฉัย ตัดสิน และแก้ปัญหาโดยใช้เหตุผล จึงได้รับความเชื่อมั่นจากสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญมาโดยตลอด



จนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันเครือข่าย มีสมาชิกจำนวน ๘๓๙ ครัวเรือน พื้นที่เกษตรอินทรีย์ ๒๔,๕๕๔ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ๕ อำเภอ ๒๑ ตำบล ๙๖ หมู่บ้าน

นายวันนา บุญกลม ดำเนินกิจกรรมการเกษตรในพื้นที่จำนวน ๗๗ ไร่ ประกอบด้วย ทำนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จำนวน ๖๓ ไร่ สวนมะม่วงหิมพานต์ จำนวน๘ ไร่ และสวนไผ่ จำนวน ๖ ไร่ สามารถสร้างรายได้จากอาชีพการเกษตรและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของตนเองให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด
ผลงานสร้างคุณประโยชน์

นายวันนา บุญกลม เป็นเกษตรกรที่มีองค์ความรู้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ด้านการลดต้นทุนการทำนาข้าวอินทรีย์ ให้มีต้นทุนประมาณไร่ละ ๒,๖๐๐ บาท(ปกติการทำนาทั่วไปมีต้นทุนประมาณ ๓,๕๐๐ – ๔,๐๐๐ บาทต่อไร่) และลดต้นทุนการผลิต โดยรวมกลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกันของสมาชิก สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์ได้ประมาณ ๔๐๐ – ๔๕๐ กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของผลผลิตข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยทั่วไปเฉลี่ย ๓๖๐ กิโลกรัมต่อไร่ และกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ยังรับซื้อข้าวจากสมาชิกกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ในราคาที่สูงกว่าราคาโรงสีทั่วไปกิโลกรัมละ๒ บาท หรือประมาณตันละ ๒,๐๐๐ บาทต่อข้าวเปลือก

กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ภายใต้การนำของนายวันนา บุญกลม สามารถผลิตข้าวอินทรีย์ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่หลากหลายได้แก่ FAIRTRADE, EU, NOP, JAS, CERES และ COFCC สามารถจำหน่ายในตลาดต่างประเทศได้ร้อยละ ๙๐ และจำหน่ายภายในประเทศร้อยละ ๑๐ ทำการส่งออกข้าวเปลือกอินทรีย์และจำหน่ายภายในประเทศ รวมกันมากกว่า ๙,๘๐๐ ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ามากกว่า ๑๕๒,๒๓๔,๘๐๐ บาทต่อปี สร้างมูลค่าเพิ่มจากกระบวนการแปรรูปส่งออกและจำหน่ายในประเทศ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า ๔๔,๑๙๗,๒๐๐ บาทต่อปี สร้างมูลค่าจากการปลูกพืชหลังนามากกว่าปีละ ๓,๙๔๕,๖๐๐ บาท สร้างกิจกรรมเพื่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชน จำนวน ๔๗ ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่า ๕,๔๔๓,๐๐๐ บาท รวมรายได้ผลผลิตจากการดำเนินงานของกลุ่ม ประกอบด้วย ผลผลิตข้าวเปลือกอินทรีย์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การปลูกพืชหลังนา การจ้างงานในชุมชน มากกว่า ๒๐๕,๘๒๐,๖๐๐ บาทต่อปี

ทั้งนี้รายได้จากการจัดสรรผลกำไรของกลุ่มร้อยละ ๑๐ จะนำมาจัดเป็นสวัสดิการแก่สมาชิกและทำประโยชน์แก่สังคม เช่น จัดสรรเป็นทุนการศึกษา ปีละ ๙๐ ทุน เป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ให้กับบุตรของสมาชิกตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงปริญญาตรี สนับสนุนเงินช่วยเหลืองานประเพณีประจำปี ปีละ๒๐๐,๐๐๐ บาท สร้างงาน สร้างความเข้มแข็งในชุมชน ทำให้สมาชิกในชุมชนไม่ต้องออกไปขายแรงงานยังต่างถิ่น

กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ดำเนินงานขับเคลื่อนตามแนวทาง BCG Model เศรษฐกิจชีวภาพ(Bio Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก สารชีวภัณฑ์ และน้ำหมักชีวภาพ ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยคำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น นำเอาฟางข้าว รำข้าว แกลบ มาทำเป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น ดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว(Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

การขยายผลงาน
นายวันนา บุญกลม ได้ถ่ายทอดผลงานและความรู้อย่างต่อเนื่องผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ภายใต้ชื่อ “ศูนย์เรียนรู้ข้าวอินทรีย์เมืองธรรมเกษตร” โดยเป็นวิทยากรประจำศูนย์บรรยายและสาธิตเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาดแก่เกษตรกร นักศึกษา หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจ ซึ่งมีผู้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ภายในศูนย์เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ คนต่อปี พร้อมทั้งขยายผลเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ จำนวนมาก อาทิ วารสาร งานวิจัย สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และโซเชียลมีเดีย เช่น YouTube Facebook เป็นต้น มีกลุ่มที่นำองค์ความรู้ไปปฏิบัติและขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้ในหลายพื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ ๕ อำเภอ ๒๑ ตำบล ๙๖ หมู่บ้าน ๘๓๙ ครัวเรือน ในจังหวัดอำนาจเจริญ มีการจัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ชุมชนและได้รับสนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างโรงสีข้าวอินทรีย์ของเครือข่าย

อีกทั้งมีการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมโรงสีแห่งประเทศไทยและบริษัทผู้ส่งออกข้าว เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายด้านศักยภาพของสมาชิก ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ แปรรูป การตลาดและระบบการค้าที่เป็นธรรมและยังร่วมกันขับเคลื่อนธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญสู่เมืองธรรมเกษตร รวมถึงบูรณาการด้านงบประมาณในการดำเนินงาน
