นักวิชาการไทยดูงาน ‘ปลูกยางพารา’ ประทับใจ ‘หุ่นยนต์กรีดยาง’ ในไหหลำ

S 47177751

เมื่อไม่นานนี้ ดารากร เผ่าชู นักวิชาการเกษตรชำนาญการประจำศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ได้เดินทางเยือนสวนยางพาราในเมืองตานโจว มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานโดยรวม โดยเฉพาะ “หุ่นยนต์กรีดยาง” ที่สามารถทำงานได้อย่างแม่นยำ ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันเกษตรศาสตร์เขตร้อนแห่งชาติจีน

S 47177747

ดารากรและเพื่อนร่วมงานชาวไทยอีกสองคนได้รับเชิญเข้าร่วมการอบรมเทคโนโลยีการเกษตรเขตร้อนสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจัดโดยกระทรวงพาณิชย์ของจีนระหว่างวันที่ 22 เม.ย.-12 พ.ค. โดยดารากรเผยว่าหุ่นยนต์กรีดยางนี้น่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตของสวนยางพาราในไทย นอกเหนือจากมีดกรีดยางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

S 47177749

ฉาวเจี้ยนหัว รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยางพารา สังกัดสถาบันเกษตรศาสตร์เขตร้อนแห่งชาติจีน กล่าวว่าการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์กรีดยางอัตโนมัติอัจฉริยะช่วยแก้ไขจุดอ่อนของการกรีดยางที่เป็นงานหนักและปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีการส่งเสริมการใช้มีดกรีดยางอิเล็กทรอนิกส์ในไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียอยู่ราว 10,000 เล่มแล้ว

S 47177750

สำหรับหุ่นยนต์กรีดยางนั้นกำลังเป็นที่สนใจของสวนยางพาราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทยและอินโดนีเซีย ที่เริ่มเข้ามาหารือความร่วมมือแล้ว โดยจีนได้วิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์นี้มานานและสร้างความก้าวหน้าในระดับโลก มีการทดลองใช้งานในกว่างตง อวิ๋นหนาน และไห่หนาน ซึ่งหุ่นยนต์แต่ละตัวกรีดยางได้ 20 ไร่ และคืนทุนในปีกว่าเมื่ออิงราคายางพาราในปัจจุบัน

S 47177752

นอกจากเครื่องมือกรีดยาง การอบรมครั้งนี้ยังสร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมชาวไทยด้วยเทคโนโลยีเพาะพันธุ์ยางพารา เทคโนโลยีขยายพันธุ์พืชด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และโมเดลเศรษฐกิจป่ายางพารา โดยยางพาราถือเป็นวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมสำคัญและถูกใช้งานเป็นวงกว้างในหลายอุตสาหกรรม

S 47177753

พรรณวดี อรุณทัต นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการประจำสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร กล่าวว่าจีนและไทยร่วมมือกันหลายด้านในอุตสาหกรรมยางพารา เช่น การปรับปรุงพันธ์ุและเทคโนโลยีปลูกยางพาราคุณภาพสูง รวมถึงจัดการฝึกอบรมร่วมและการแลกเปลี่ยนเยี่ยมเยือน เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้และทักษะในอุตสาหกรรมยางพารา

S 47177754

อนึ่ง จีนและไทยได้กระชับความร่วมมือทางเทคโนโลยียางพาราภายใต้กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยมีการสร้างฐานสาธิตการปลูกยางพาราในจังหวัดฉะเชิงเทราและหนองคาย ซึ่งฝ่ายจีนจัดสรรเมล็ดพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นเอง รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยี และการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้อง

ที่มา -สำนักข่าวซินหัว

.