นายพาณิชย์ อินรงค์ เจ้าของบริษัท ทุเรียนในตำนาน(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตัวเองเปิดล้งรับซื้อทุเรียนในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ และได้ซื้อทุเรียนจากชาวสวนเข้าล้งแล้ว ปรากฏว่า สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เมื่อชาวสวนนำทุเรียนมาขายพร้อมแนบใบ GAP สวนมาให้ ปรากฏว่า GAP ของชาวสวน ถูกนำไปใช้เต็มระบบแล้ว และบางแปลงก็พบว่า สวนทุเรียนยังไม่ได้เก็บผลผลิตก็มีการนำ ไปใช้เต็มระบบแล้วเช่นกัน
จากการตรวจสอบขณะนี้ พบชาวสวนทุเรียน อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ราว 30 คนถูกสวม GAP สวน พื้นที่กว่า 200 ไร่ รวมน้ำหนักทุเรียนที่ถูกสวมไปกว่า 1,150,000 กก.
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2568 เวลา 18.00 น. ที่ผ่านมา ตนเองได้พาชาวสวนที่ถูกสวม GAP สวน ไปแจ้งความกับตำรวจสภ.ลับแล แต่ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนออกไปปฎิบัติหน้าที่ข้างนอกประกอบกับชาวสวนติดธุระจึงขอกลับและจะมาแจ้งในภายหลัง
นายลักษ์ รำมะนา อยู่บ้านเลขที่ 211 ม.9 ต.น้ำริด อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เจ้าของสวนทุเรียนที่ถูกสวมสิทธิ์ เปิดเผยว่า สวนทุเรียนที่ตัวเองปลูกไว้ มี 3 แปลง รวม 91 ไร่ ในพื้นที่ ต.นานกก อ.ลับแล ปลูกทุเรียนหมอนทอง เมื่อวันที่ 23 พ.ค.68) ตนเองตัดทุเรียน 18 ตัน ส่งขายล้งดังกล่าว พร้อมยื่น GAP สวน แปลงแรก 48 ไร่ ปรากฏว่า มีผู้นำไปใช้แล้ว จึงยื่นเอกสาร GAP แปลงที่ 2 จำนวน 23 ไร่ ปรากฏว่า มีผู้นำไปใช้แล้ว และยื่นเอกสาร GAP แปลงที่ 3 จำนวน 20 ไร่ จึงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อโวยวาย และไลฟ์ผ่าน social เพื่อแจ้งให้ชาวสวนทุเรียนในอุตรดิตถ์ นำใบ GAP สวน ตรวจสอบ ทำให้รู้ว่า มีชาวสวนถูกสวม GAP เหมือนตนเอง
กระทั่ง วันที่ 24 พ.ค. 2568 อยู่ดีๆ สวนตัวเองถูกปลดล็อก สถานะไม่มีการนำ GAP สวน ไปใช้งานแต่อย่างใด จึงงงมากว่า เกิดอะไรขึ้น
ด้านนายอานนท์ มลิพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า การนำเอกสารใบ GAP ทุเรียน ประกอบการส่งออกในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ พบว่า ใบ GAP ของเกษตรกรบางรายพบปัญหาการถูกสวมสิทธิ์ แต่ใบ GAP บางรายพบว่าเกิดจากระบบฐานข้อมูลมีความคลาดเคลื่อนในส่วนผลผลิต ศวพ.อุตรดิตถ์ ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบและประสานงานกับ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร (ด่านตรวจพืช) ที่ได้ควบคุมการใช้ใบรับรอง gap ในการตัดยอดในระบบเพื่อการส่งออกทุเรียน เกษตรกรที่พบปัญหาเรื่องใบ GAP ที่มีปัญหาทั้ง 2 อย่าง ได้มีการตรวจสอบความถูกต้องก่อนคืนสิทธิ์ให้เกษตรกรทุกรายต่อไป คาดว่าหลังจากเกษตรกรแจ้งรายชื่อและข้อมูลมาให้ จะดำเนินแล้วเสร็จไม่เกิน 1-2 วัน
ในส่วนการสวมสิทธิ์ใบ GAP จะมีการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ (ล้ง) และเกษตรกรที่มีความตั้งใจให้เกิดการสวมสิทธิ์ต่อไป
ศวพ.อุตรดิตถ์ ระบุว่า กรณีที่มีบุคคลอื่นนั้นนำใบ GAP ของท่านไปใช้ประโยชน์ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ของ ศวพ.อุตรดิตถ์ ได้ทันที เพื่อที่ยังยั้งการใช้ประโยชน์ในครั้งนั้น นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังมีการติดตามการใช้ประโยชน์ก่อนการส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศทุกครั้ง สำหรับในกรณีปัญหานี้ ทาง ศวพ.อุตรดิตถ์ จะเร่งประสานและแก้ไขปัญหาเพื่อให้ใบ GAP ในรอบปี 2568 สามารถใช้ประกอบการส่งออกได้อีกครั้ง และเกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกรและสังคมได้รับข้อเท็จจริงต่อไป