เกษตร-พาณิชย์ หนุนรัฐบาลลุยงานในชุดเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่ 1 / 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะกรรมการโดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้มีการบรรจุแผนการบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตไปในโอกาสนี้ด้วย โดยก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ได้มอบให้ตัวแทนคือ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ

สำหรับการประชุมเฉพาะกิจวันนี้นั้นเป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 170 / 2565 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติด้านเศรษฐกิจลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ เป็นประธานและมีรองนายกรัฐมนตรี 4 ท่าน เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นกรรมการและฝ่ายเลขานุการ ก่อนหน้านี้มีการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจแล้วสองครั้ง โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมประชุมและได้เสนอแผนที่ดำเนินการไปแล้วโดยการนำของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นายจุรินทร์ นอกจากนั้นก็จัดทำข้อเสนอแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ

1201136
เตรียมแผนรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า รัฐบาลทำแผนรองรับ 4 ด้านคือ 1.ด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ 2.ด้านการขาดแคลนวัตถุดิบการเกษตร 3.ด้านการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเอสเอ็มอี 4.ด้านเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขันโดยทั้ง 4 ด้านนั้นมีมาตรการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือ Current policy มาตรการระยะเร่งด่วนหรือ Quick win และมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่องหรือ Follow -up Urgent policy

โดยในส่วนมาตรการรองรับที่กระทรวงพาณิชย์เสนอที่ถูกนำบรรจุไว้ในข้อเสนอแผนเตรียมความพร้อมคือ 1.การควบคุมราคาสินค้า 18 หมวดสำคัญเกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคของประชาชน 2.การเร่งส่งเสริมการค้าออนไลน์ 3.การเร่งรัดเจรจาเอฟทีเอกับคู่ค้าที่มีศักยภาพและเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า และการแก้ไขอุปสรรคปัญหาและผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า 4.การยกระดับการเจรจาเอฟทีเอที่มีอยู่ 5.การเปิดเจรจาเอฟทีเอใหม่ การทำข้อตกลงเจาะตลาดเมืองรองด้วยมินิเอฟทีเอ 6.การจับคู่เจรจาการค้าระหว่างประเทศ Online Business Matching และในการประชุมกรรมการใหญ่ทางรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ก็ได้ขอเพิ่มมาตรการทางด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์หรือทางปศุสัตว์ไปด้วย

ในที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์โลกโดยมีการประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนและความขัดแย้งเรื่องไต้หวันและประเมินสถานการณ์ผลกระทบด้านเศรษฐกิจโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและกรณีที่ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร่งรีบ หน่วยงานต่างๆทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศธนาคารโลกรวมถึง OECD ต่างก็ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2565 อย่างต่อเนื่องและในทางกลับกันก็ได้มีการปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อขึ้นตามลำดับ นอกจากนั้นยังได้ตรวจสอบเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอย่างละเอียด

จากนั้นในที่ประชุมก็ได้สรุปแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีการรายงานเครื่องบ่งชี้วิกฤติเศรษฐกิจล่าสุดซึ่งแยกเป็น 4 ส่วนคือวิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ วิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร วิกฤติด้านการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเอสเอ็มอี และวิกฤติโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งก็มีการพูดถึงค่าน้ำมันและก๊าซหุงต้ม เรื่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่องไฟฟ้า เรื่องวัตถุดิบก็พูดถึงปุ๋ยและอาหารสัตว์ที่ราคาเพิ่มทำให้ต้นทุนทางการเกษตรเพิ่มส่งผลต่อชาวนาและยางพาราที่มีราคาขายต่ำกว่าต้นทุน เป็นต้น

แต่ตรงส่วนของปุ๋ยและอาหารสัตว์นั้น รองนายกฯจุรินทร์ก็รายงานสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานโดยเฉพาะการหาปุ๋ยนำเข้าทดแทนจากรัสเซียโดยได้จากซาอุดีอาระเบียหลังการเปิดประเทศและก็ได้แล้ว 300,000 กว่าตัน ส่วนที่เหลือกำลังจะต้องเจรจาอีกในวาระที่จะไปซาอุดีอาระเบียช่วงวันที่ 27-31 สิงหาคม 2565 นี้ รวมทั้งมาตรการทางด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์และมาตรการช่วยเกษตรกรด้านหลักของโครงการประกันรายได้การจ่ายชดเชยตรงนี้ช่วยเกษตรกรไว้ได้มาก นอกนั้นในส่วนของหนี้ครัวเรือนจริง ๆ ก็เริ่มลดลงแต่รายจ่ายครัวเรือนอาจจะยังเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะหมวดค่าโดยสาร ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและในส่วนของธุรกิจขนาด SMEs แม้ในภาพรวมค่อยๆ ฟื้นตัวแต่ก็ยังไม่กลับสู่ระดับปกติและยังกังวลเรื่องต้นทุนกำไรกันอยู่ก็จะต้องมีมาตรการมาดูแล อย่างนี้เป็นต้น

ซึ่งที่ประชุมก็ได้พิจารณามาตรการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน Current policy ด้านวิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้า ได้แก่ มาตรการบรรเทาค่าครองชีพอันเนื่องมาจากพลังงานแพงโดยกระทรวงพลังงาน เช่น ตรึงราคาน้ำมัน ตรึงค่า Ft คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV และช่วยเหลือค่าน้ำมันให้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ส่วนกระทรวงพาณิชย์มีการดำเนินการควบคุมราคาสินค้า 18 หมวดสำคัญ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารสด อาหารกระป๋อง ฯลฯ ด้านวิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและการขาดแคลนวัตถุดิบการเกษตร เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) โดยศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) เป็นต้นแบบ มีการให้ความรู้ในการปรับสูตรอาหารสัตว์เน้นใช้วัตถุดิบภายในประเทศทดแทนการนำเข้าและช่วยรายย่อยให้ผลิตสูตรอาหารสัตว์ใช้เองได้จากวัตถุดิบท้องถิ่น มีการดำเนินโครงการบริหารจัดการปุ๋ยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะปุ๋ยเคมีราคาแพง ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยโพแทสในประเทศ ตลอดจนมีมาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เป็นต้น

ส่วนกระทรวงพาณิชย์ได้เข้ามาดูแลปริมาณปุ๋ยคงคลังในประเทศและร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศเจรจาซื้อขายปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบียสำเร็จ 323,000 ตันแล้ว สำหรับวัตถุดิบอาหารสัตว์ มีการผ่อนปรนมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน เปิดตลาดนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองเพื่อช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร ในด้านวิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ดำเนินโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มาตรการเสริมสภาพคล่องด้วยการลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิต ขยายเพดานวงเงินบัตรเครดิต คลินิกแก้หนี้ โครงการสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เป็นต้น มีการออกมาตรการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างในระบบประกันสังคมและผู้ประกันตนโดยกระทรวงแรงงาน ส่วนกระทรวงการคลัง ดำเนินโครงการ คนละครึ่ง มาตรการภาษีสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีบัตรและผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เป็นต้น

ในด้านวิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและขีดความสามารถแข่งขัน กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งเจรจา FTA กับคู่ค้าศักยภาพและเจรจาเพื่อลดอุปสรรคการค้ารวมทั้งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก FTA 14 ฉบับที่มีอยู่ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลังออกมาตรการใช้และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี การลงทุนโครงสร้างในประเทศโดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง โครงข่ายถนน ระบบขนส่งทางอากาศและทางน้ำ

สำหรับมาตรการเร่งด่วน หรือ Quick Win ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านวิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้า ได้แก่ มาตรการประหยัดพลังงานของกระทรวงพลังงาน โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและหน่วยงานราชการลดการใช้ไฟ และให้พิจารณาต่ออายุมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพอันเนื่องจากราคาน้ำมันแพงเพื่อดูแลค่าใช้จ่ายในมุมประชาชน

ส่วนกระทรวงคมนาคมจะดำเนินการจัดจำหน่ายบัตรโดยสารรายเดือนของ ขสมก. รฟท. และ รฟม. เพื่อช่วยลดภาระของประชาชน ในด้านวิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและการขาดแคลนวัตถุดิบการเกษตร มีการเตรียมมาตรการลดต้นทุนการผลิต อาทิ โครงการบริหารจัดการปุ๋ย ชดเชยราคาปุ๋ยให้เกษตรกร สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์สำรวจคัดเลือกเกษตรกร จัดทำแผนรับซื้อและจัดหาปุ๋ยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในด้านวิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs ที่ประชุมเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟูร่วมกับกระทรวงการคลังให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ต่อไป และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการฐานข้อมูลเกษตรกร ฐานข้อมูลหนี้เกษตรกรเพื่อช่วยเหลือประชาชน ส่วนด้านวิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังพิจารณามาตรการสนับสนุนด้านการเงินในการพัฒนาศักยภาพธุรกิจ โดยขยายวัตถุประสงค์ของมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจ (Transformation Loan) โดยเน้นการปรับปรุงกระบวนการทำงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การลงทุนนวัตกรรม และการเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การท่องเที่ยว เกษตรและอาหาร เป็นต้น

ท้ายที่สุด ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง หรือ Follow-up Urgent policy โดยในด้านวิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้า กระทรวงคมนาคมจะส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ลดต้นทุนและปรับรูปแบบการขนส่ง เน้นการขนส่งทางราง ลดการใช้พลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงงานสะอาด ในด้านวิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและการขาดแคลนวัตถุดิบการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จะส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศสอดคล้องตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG

อีกทั้งจะศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนโรงงานผลิตปุ๋ยโพแทส ส่วนด้านวิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs รัฐบาลจะดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พัฒนาทักษะทางการเงินทุกช่วงวัย เร่งส่งเสริมการค้าออนไลน์ สร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการเอสเอมอีในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สินเชื่อมเสริมสภาพคล่อง และจะเข้ามาดูแลหนี้สินของประชาชนรายย่อยด้วย ในด้านวิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน จะดำเนินมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งเตรียมความพร้อมในการแย่งแยกห่วงโซ่การผลิตของโลกและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ตรงกับความต้องการของภาคการผลิตโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการผลักดันการเจรจากรอบความร่วมมือด้านดิจิทัลกับสิงคโปร์ ขยายความร่วมมือด้าน BCG เพิ่มการให้ความสำคัญกับอ่าวเบลกอลและมหาสมุทรอินเดียภายใต้กรอบ IORA และ BIMSTEC ส่วนกระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการยกระดับการเจรจาเอฟทีเอที่มีอยู่และเปิดเจรจากรอบใหม่ ตลอดจนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า