“JTC ไทย-ภูฏาน” ขยายความร่วมมือการค้าการลงทุน ดันส่งออก “สมุนไพร-ยาแผนโบราณไทย”

วันที่ 28 เมษายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุม “คณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-ภูฏาน”(ระดับรัฐมนตรี) ครั้งที่ 4 ร่วมกับนายลินโป ล็อกนัท ชาร์มา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ (หัวหน้าคณะผู้แทนภูฏาน) โดยมีนางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายณรงค์ วุ่นซิ่ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วยที่โรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ประเทศภูฏานมีประชากรประมาณ 800,000 คน มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับภูฏาน ปี 2564 มีมูลค่ารวม 2,100 ล้านบาท เป็นการส่งออกจากประเทศไทยไปภูฏานเกือบทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยได้ดุลการค้าเกินดุลกับภูฏานประมาณ 2,096 ล้านบาท เป็น +28.68% สินค้าที่ไทยส่งออกไปภูฏานประกอบด้วยสิ่งทอ ผ้าผืนใหญ่สังเคราะห์เครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่ารวมกันประมาณร้อยละ 70 ของการส่งออกทั้งหมด สินค้าอื่น เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลไม้สด ผลไม้แช่เย็น แช่แข็งและผลไม้แห้ง

30999
ประชุม JTC ไทย-ภูฏาน

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ประเทศภูฏานส่งออกมาไทยคือ ผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น กาแฟ ชา เครื่องเทศ เยลลี่ผลไม้ และโลหะ ผลิตภัณฑ์จากโลหะซึ่งเป็นรูปหล่อขนาดเล็กทำด้วยทองแดง เป็นต้น โดยนักธุรกิจไทยไปลงทุนภาคบริการในภูฏานหลายรายในกิจการโรงแรม ที่พัก สปาและร้านอาหาร เป็นต้น

สำหรับวันนี้ตนได้หยิบยก 6 ประเด็นขึ้นมาหารือกับท่าน”รัฐมนตรีพาณิชย์ภูฏาน ท่านล็อกนัท ชาร์มา” ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เราควรปรับเป้าหมายการค้าร่วมกันจากปี 64 ที่ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นในปี 68 เพิ่มเป็น 120 ล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นมูลค่าจากปี 64 1,200 ล้านบาทเป็น 3,600 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมประมาณสามเท่า 2-3 ปีที่ผ่านมาอัตราการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น 15-20% มาโดยลำดับ

ประเด็นที่สอง ขอให้ภูฏานสนับสนุน “การส่งออกสมุนไพรไทย”และ “ยาแผนโบราณของไทย” จำหน่ายในภูฏานทั้งการขึ้นทะเบียน การเปิดตลาดและการอำนวยความสะดวกในการนำเข้า ซึ่งจะเป็นเป้าหมายใหม่ในการส่งออกของไทย ถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ของสมุนไพรไทยกับยาไทยแผนโบราณ

ประเด็นที่สาม เรามี MOU ด้านหัตถกรรมกับภูฏาน ซึ่งได้หมดอายุไปแล้วเมื่อเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว ได้ขอให้ต่ออายุไปอีก 5 ปีนับจากวันที่หมดอายุ จะช่วยส่งเสริมหัตถกรรมชุมชนหรือสินค้าชุมชนของสองประเทศแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันทั้งการผลิตและการค้า

ประเด็นที่สี่ เรามี MOU ด้านการท่องเที่ยวกับภูฏานฉบับปัจจุบันซึ่งใช้มา 5 ปี ตั้งแต่ปี 60-มิ.ย.65 ที่กำลังจะหมดอายุในไม่กี่เดือนข้างหน้า ได้ขอให้ต่ออายุออกไปอีก 5 ปี เดิมทำ MOU ระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกับสภาการท่องเที่ยวภูฏาน ได้ขอเพิ่มหน่วยงานของไทยอีกหนึ่งหน่วยงาน คือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.

และเสนอขอให้ภูฏานจับมือกับประเทศไทยทำเป็นแพคเกจทัวร์ โปรแกรมท่องเที่ยวร่วมกัน เวลานักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาภูฏานให้มาต่อที่ประเทศไทยได้ด้วยและนักท่องเที่ยวมาไทยก็ไปต่อที่ภูฏานได้ในแพคเกจเดียวกันหรือรายการทัวร์เดียวกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ระหว่างการท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายและขอให้ภูฏานกับไทยจับมือกันส่งเสริม “Soft Power” เป็นจุดขายสำคัญอีกจุดระหว่างกันในการท่องเที่ยว จะเน้นศิลปะวัฒนธรรมวิถีชีวิตทั้งเรื่องอาหาร หัตถกรรม เป็นต้น ดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลกมายังทั้งสองประเทศ

ประเด็นที่ห้า ตนได้เชิญนักธุรกิจภูฏานผ่านท่านรัฐมนตรี ล็อกนัท ชาร์มา เข้าร่วมงาน THAIFEX -ANUGA Asia 2022 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าด้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียของประเทศไทย จัดวันที่ 24-28 พ.ค.ปีนี้ และขอเชิญเข้าร่วมงาน The Marche by STYLE Bangkok ที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่นในช่วงวันที่ 18-22 พ.ค. 2565 และขอให้ท่านรัฐมนตรีภูฐานช่วยสนับสนุนการจับคู่เจรจาการค้าระหว่างนักธุรกิจไทยกับภูฏานที่กระทรวงพาณิชย์จัดขึ้นในช่วง มิ.ย.-ก.ค.ปีนี้เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน

สุดท้ายประเด็นที่หก ขอทราบว่ารัฐบาลภูฏานจะผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาเมื่อไหร่ เพื่อประกอบการดำเนินการของนักธุรกิจไทยที่เดินทางไปลงทุนด้านโรงแรม อาหาร สปาและอื่นๆ จะได้กำหนดแผนงานในการดำเนินธุรกิจได้ล่วงหน้า โดยทั้ง 6 ข้อนี้ ท่านรัฐมนตรีภูฏานสนับสนุนความเห็นของตนทั้งหมดและท่านรัฐมนตรีล็อกนัท ชาร์มา ได้หยิบยก 2 ประเด็นสำคัญ

ประเด็นแรก ภูฏานประสงค์จะขอทำ PTA ซึ่งเป็นการทำข้อตกลงการค้าเฉพาะด้านสินค้า ซึ่งปัจจุบันภูฏานมี PTA กับประเทศเดียวคือกับประเทศบังกลาเทศ

ประเด็นที่สอง ภูฏานประสงค์จะส่งออกผลไม้สำคัญ 3 รายการคือ แอปเปิ้ล ส้ม มันฝรั่ง มาไทย ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังพิจารณาการทำผลการวิเคราะห์การปราศจากศัตรูพืชของผลไม้รายการเหล่านี้ เพื่อส่งเสริมการร่วมมือระหว่างการค้าระหว่างกัน ตนขอให้กระทรวงเกษตรฯเร่งพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นของภูฏานมายังประเทศไทย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคไทยต่อไป ซึ่งทางภูฏานทำการเกษตรวิถีใหม่เป็นการเกษตรปราศจากการใช้สารเคมี และการประชุม JTC ครั้งที่ 5 ประเทศภูฏานจะเป็นเจ้าภาพ

ถือว่าการประชุมครั้งนี้ได้ประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นโอกาสสำคัญในการที่จะนำสินค้าอีกหมวดคือ “สมุนไพรไทย”กับ“ยาแผนโบราณ”ของไทยไปภูฏาน