อนุทิน หารือ เอกอัครราชทูตมาเลย์ประจำไทยปมบริหารจัดการกัญชาทางการแพทย์

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หารือ เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ประเด็นบริหารจัดการนโยบายกัญชา และกระท่อม ผลักดันเป็นพืชสมุนไพรเพื่อใช้ทางการแพทย์ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิด ปัญหา อุปสรรค เพื่อเฝ้าระวังป้องกันและลดข้อกังวลประชาชน

วันที่ 15 สิงหาคม 2565 ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง ดาโต๊ะ โจจี แซมูเอล (H.E. Dato’ Jojie Samuel) เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย เข้าพบว่า เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทยได้เข้าพบเพื่อหารือในประเด็นการบริหารจัดการนโยบายกัญชาทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขไทย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย กำลังจะดำเนินการนำกัญชาและกระท่อม มาใช้ทางการแพทย์

ANN 8897
เอกอัครราชทูตมาเลเซียฯหารืออนุทิน รมว.สาธารณสุข บริหารจัดการกัญชาทางการแพทย์

โดยมีเป้าหมายที่จะให้พืช 2 ชนิดนี้เป็นสมุนไพรทางการแพทย์ รวมทั้งหารือและแลกเปลี่ยนความคิดในประเด็นปัญหา และอุปสรรคเกี่ยวกับนโยบายกัญชงกัญชาทางการแพทย์เพื่อเฝ้าระวังป้องกันและลดข้อกังวลของประชาชน

นอกจากนี้จะเตรียมให้ท่านเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทยและคณะเยี่ยมชม อุตสาหกรรมกัญชงกัญชา และแปลงปลูกที่ได้คุณภาพสามารถนำช่อดอกไปใช้สกัดเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ขณะนี้ (ร่าง) พ.ร.บ.กัญชาของไทยอยู่ในระหว่างพิจารณาในคณะกรรมาธิการ ซึ่งจะนำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต่อไป ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขได้มีการออกประกาศกรมอนามัยและกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และพ.ร.บ.การสาธารณสุขเพื่อป้องกันการนำมาใช้ในทางที่ผิด ซึ่งมีข้อห้ามและบทลงโทษที่ชัดเจน และทุกคนต้องปฏิบัติตามให้เกิดระเบียบในสังคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกได้มีการนําสารสกัดจากกัญชามาใช้เพื่อเป็นยารักษาโรคเนื่องจากมีการศึกษาวิจัยสนับสนุนถึงประโยชน์และโทษของกัญชามากขึ้น เนื่องจากสารประกอบ cannabinoids ที่อยู่ในกัญชาสามารถใช้ในการรักษาโรคได้

โดยสารที่ออกฤทธิ์หลักที่นํามาใช้ในทางการแพทย์ คือ delta-9-Tetrahydrocannabinol (THC) ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และcannabidiol (CBD)ที่ไม่มีฤทธิ์เสพติด สารประกอบ cannabinoids ออกฤทธิ์ผ่าน cannabinoid receptor หลัก 2 ชนิด คือ CB1 receptor ซึ่งพบมากในสมองและร่างกาย มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจ ความจํา ความเข้าใจ อารมณ์ การรับรู้ ความปวดและการเคลื่อนไหว ส่วน CB2 receptor พบที่ระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทส่วนปลาย ม้าม ทอนซิล ต่อมไทมัส กระดูก ผิวหนัง และเลือด