รัฐบาลเดินหน้าพัฒนา “การเกษตรพื้นที่ EEC” ตั้งเป้ารายได้เกษตรกรในพื้นที่โตร้อยละ 6.5 ต่อปี

วันนี้ (18 สิงหาคม 2565) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพียงพอที่จะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2575

ทั้งนี้ แนวทางในการพัฒนา มิได้จำกัดอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการเท่านั้น แต่รวมถึงภาคการเกษตรด้วย ซึ่ง ครม.ได้เห็นชอบ แผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี (พ.ศ.2566-2570) เป้าหมายยกระดับภาคการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีให้ผลการผลิตสูงขึ้น เข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง ยกระดับรายได้เกษตรกรให้เทียบเท่าภาคอุตสาหกรรมและบริการ พัฒนาพื้นที่กลุ่มคลัสตอร์ทางการเกษตรที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาด ประกอบด้วย 5 คลัสเตอร์ คือ ผลไม้ประมง เกษตรมูลค่าสูง พืชสมุนไพร และพืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยคาดหวังอัตราการขยายตัวมูลค่าผลผลิตมวลรวมภาคเกษตรของอีอีซี ร้อยละ 3.5 ต่อปี และอัตราการขยายตัวรายได้เกษตรต่อแรงงานเกษตรของอีอีซี ร้อยละ 6.5 ต่อปี

S 17326105
ยกระดับภาคการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยี

สำหรับการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรสอดรับนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเป้าให้ประเทศสู่เป็นศูนย์กลางการผลิตพืชสมุนไพร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ได้ลงนามความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พัฒนาพืชสมุนไพรครบวงจรในเขตปฏิรูปที่ดิน มีกฎหมายรองรับ สร้างวิสาหกิจชุมชนที่มีความพร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ สร้างเครือข่ายงานวิจัย พัฒนาสินค้าสมุนไพรให้ตรงตามความต้องการตลาด ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ไพล ว่านนางคำและขิง และเพิ่มมูลค่าเปลือกทุเรียนมังคุดและเงาะ โดยวิธีสกัดสารออกฤทธิ์สำคัญสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

นางสาวรัชดา กล่าวต่อถึงกลุ่มสินค้าผลไม้ ทาง สกพอ. และบริษัท ปตท. ได้ร่วมกันดำเนินโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก Eastern Fruit Corridor : EFC) ซึ่งคือโครงการลงทุนตลาดกลางผลไม้และดิจิตอลแพลตฟอร์ม ครอบคลุมการบริหารจัดการกระบวนการผลิต การทำแพลตฟอร์ม e-commerce และ e- auction การรับรองมาตรฐานเพื่อรองรับการซื้อขายกับต่างประเทศ พร้อมทั้งระบบการขนส่งสินค้าโดยกำหนดพื้นที่ตั้งโรงงานซึ่งมีขนาดห้องเย็นจุผลไม้ได้ถึง 10,000 ตันอยู่บริเวณใกล้แหล่งปลูกทุเรียน เพื่อเป็นกลไกในการรักษาสมดุลย์ด้านราคาของตลาดผลไม้ (ทุเรียน) อย่างยั่งยืนคาดว่าจะเปิดดำเนินการในเดือนธันวาคมปีนี้ 2565

รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะพัฒนาภาคการเกษตรให้มีรายได้เทียบเท่าภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการให้พื้นที่ EEC เป็นต้นแบบการพัฒนาด้านการเกษตรสมัยใหม่ของประเทศ ตามกรอบแนวคิดตลาดนำการผลิต และการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหารากเหง้าการเกษตร โดยสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์สินค้าสาคัญ ได้แก่ ผลไม้ ประมง พืชสาหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ พืชสมุนไพร และสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ต่อไป นางสาว รัชดา กล่าว