โมเดลขนส่ง “เรือ+ราง” ช่องทางใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยไปจีนไม่ควรพลาด

ณ วันนี้ ยุทธศาสตร์ “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่”หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ILSTC (New International Land and Sea Trade Corridor) ที่มีโมเดลแบบไร้รอยต่อ “เรือ+ราง” เป็นพระเอก ถือเป็นหนึ่งในตัวจักรสำคัญที่ช่วยเพิ่มปริมาณการค้าให้กับเขตฯ กว่างซีจ้วง และมณฑลในภาคตะวันตกของจีน เทรนด์การขนส่งดังกล่าวมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โมเดลการขนส่งแบบไร้รอยต่อ “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจวกับสถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟ อานิสงส์จากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของระเบียงการค้า ILSTC ช่วยให้สถานีรถไฟ ‘ไกลปืนเที่ยง’ อย่างสถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟในท่าเรือชินโจวได้เติบโตแบบก้าวกระโดดจนเป็น Hub การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

สถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจว มีบทบาทสำคัญในฐานะ “ข้อต่อ” งานขนส่งตู้สินค้าภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ ILSTC และเป็นสถานีนำร่องการทำงานด้วยระบบอัจฉริยะในโมเดลงานขนส่ง “เรือ+ราง” ปัจจุบันมีบริการเส้นทางขนส่งทางรถไฟจากท่าเรือชินโจวไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะหัวเมืองเศรษฐกิจในภาคตะวันตก (ฉงชิ่ง เฉิงตู คุนหมิง มีบริการทุกวัน) เป็นจุดกระจายสินค้าแห่งใหม่ที่มีศักยภาพของประเทศจีน

วันหยุดยาวช่วงเทศกาลตรุษจีน 2565 ที่ผ่านมา ท่าเรือชินโจวและสถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟในท่าเรือชินโจวยังคง ‘รับบทหนัก’ ในการขนสินค้านำเข้า-ส่งออกกับต่างประเทศ สินค้านำเข้าพวกบิสกิต น้ำมะพร้าว และไวน์จากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย กำลังจะลำเลียงไปยังสถานีถวนเจี๋ยชุนของนครเฉิงตู ขณะเดียวกัน เครื่องปรุงสุกี้หม้อไฟสไตล์เสฉวน เบคอนหมู และอาหารกระป๋องจากมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง กำลังรอขนถ่ายขึ้นเรือเพื่อส่งออกเช่นเดียวกัน

2022 02 17 3 copy
ระบบเรือ + รางเพิ่มปริมาณการค้าให้กับเขตฯ กว่างซีจ้วงและมณฑลภาคตะวันตกจีน

นับตั้งแต่เริ่มให้บริการการขนส่ง “เรือ+ราง” ในปี 2560 จนถึงปัจจุบัน เที่ยวขบวนรถไฟวิ่งให้บริการเติบโตร้อยกว่าเท่า รวมจำนวนกว่า 14,000 เที่ยวขบวน นับเป็นขบวนรถไฟระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงที่สุดของจีนในช่วงหลายปีมานี้ เฉพาะปี 2564

capture 20220903 130533
ระบบเรือ + รางเพิ่มปริมาณการค้าให้กับเขตฯ กว่างซีจ้วง

เที่ยวขบวนรถไฟที่วิ่งให้บริการในโมเดลการขนส่งดังกล่าว รวม 6,117 เที่ยว เพิ่มขึ้น 33% โมเดลการขนส่งแบบไร้รอยต่อ “เรือ+ราง” ในบริเวณท่าเรือช่วยอำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออกให้กับผู้ค้าอย่างมาก

2022 02 17 1 1
ตารางเวลาและเส้นทางเดินเรือ

ความน่าสนใจของโมเดลการขนส่ง “เรือ+รถไฟ” ที่ท่าเรือชินโจว คือ หลังจากที่เรือสินค้าเข้าเทียบท่า ซึ่งท่าเทียบเรือบางส่วนเป็น “ท่าเทียบเรืออัจฉริยะ” แล้ว เครนจะสแกนหาตำแหน่งตู้สินค้าและยกตู้สินค้าขึ้น-ลงเรือไปวางบนรถลำเลียง (shuttle) เพื่อลำเลียงตู้สินค้าไปขึ้นรถไฟที่ “ศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจว” ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณท่าเรือชินโจว

ที่ผ่านมา ท่าเรือชินโจวได้พัฒนาระบบรางไฟฟ้าและเพิ่มประสิทธิภาพการลำเลียงสินค้าในสถานีรถไฟชินโจวตะวันออกภายในท่าเรือชินโจวจนแล้วเสร็จซึ่งช่วยให้ร่นเวลาที่ใช้ในการลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟแบบเต็มขบวน 50 โบกี้ ใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น (จากเดิมต้องใช้เวลามากกว่า 4.5 ชั่วโมง) และสามารถทำเวลาได้เร็วสูงสุด 1.5 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างราง (track)ลำเลียงตู้สินค้าทางรถไฟเพิ่มอีกเพื่อรองรับปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

บริษัท China Railway สาขาหนานหนิง เปิดเผยว่า ปีที่แล้ว โมเดลการขนส่งสินค้า “เรือ+ราง” มีปริมาณการลำเลียงตู้สินค้ารวม 5.7 แสน TEUs เพิ่มขึ้น 57.5% เส้นทางการขนส่ง 13 เส้นทางครอบคลุม 47 เมืองใน 13 มณฑลในภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศจีน โดยมี Hub สำคัญ คือ นครฉงชิ่ง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลกุ้ยโจว มณฑลกานซู่ มณฑลชิงไห่ และมณฑลซินเจียง และสามารถเชื่อมโยงไปถึงเอเชียกลางและยุโรปได้ด้วย

นอกจากนี้ สินค้าของจาก(ภาคตะวันตกของ)จีนสามารถส่งออกผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ไปยัง 311 ท่าเรือใน 106 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก สถิติสูงสุดของรถไฟที่วิ่งให้บริการต่อวัน 22 เที่ยวขบวน ข้อมูลช่วง 11 เดือนแรกปี 2564 ระบุว่า การนำเข้า-ส่งออกของ 14 มณฑลในจีนผ่านด่านในเขตฯ กว่างซีจ้วง มีมูลค่ารวม 4.599 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 41.3% (YoY)

โมเดลการขนส่งแบบไร้รอยต่อ “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจว เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ในทางกลับกันสินค้าในจีนก็สามารถใช้รถไฟขนส่งตู้สินค้ามาที่ท่าเรือชินโจวเพื่อขึ้นเรือไปต่างประเทศได้แบบไร้รอยต่อ

ปัจจุบัน มีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยจำนวนหลายเที่ยวต่อสัปดาห์ เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ส่งออกไทย ใช้เวลาการขนส่งสั้นเพียง 4-7 วันเท่านั้น มีความสะดวกและรวดเร็ว ประหยัดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่าย เป็นจุดกระจายกระจายสินค้าไปทั่วประเทศจีน

อีกทั้ง ยังสามารถใช้โมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” เชื่อมต่อกับโครงข่าย China-Europe Railway เพื่อลำเลียงสินค้า (ไทย) ไปขยายตลาดในเอเชียกลางและยุโรปได้โดยตรงอีกด้วย การขนส่งโมเดลนี้สามารถรองรับตู้สินค้าได้หลายประเภท ทั้งตู้สินค้าธรรมดา ตู้ที่มีเครื่องทำความเย็น (reefer) สำหรับการขนส่งผลไม้และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง และตู้สินค้าแบบ open top ซึ่งเหมาะสำหรับสินค้าเทกองด้วย

ผู้ใช้บริการสามารถมองภาพการขนส่งได้ทั้งวงจร ช่วยให้สามารถคำนวณเวลาที่ใช้และต้นทุนการขนส่งได้ง่าย ขั้นตอนการดำเนินพิธีการทางศุลกากรที่ลดลง ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าได้มากขึ้น และสินค้าถึงมือผู้รับปลายทางได้ค่อนข้างรวดเร็วและตรงเวลา ช่วยให้เจ้าของสินค้าได้รับเงินค่าสินค้าเร็วขึ้นด้วย

ที่มาข้อมูลและภาพจากศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง