“อีอีซี” รับซื้อ “ผลไม้” ตรงจากชาวสวน- รักษาเสถียรภาพราคา

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.)หรือ “อีอีซี” ร่วมกับ องค์กรบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและ “รักษาเสถียรภาพราคาผลไม้” ใน “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)” โดยมี นายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี และนายชาญศักดิ์ ชื่นชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม 3 องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า “ผลไม้ไทย” หน้าร้อนนี้โดยเฉพาะในพื้นที่ “อีอีซี”คาดว่า ผลผลิต จะเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณร้อยละ 25 ในขณะเดียวกัน จีนซึ่งเป็นตลาดหลัก มีมาตรการ Zero Covid ทำให้มีความเข้มงวดในการขนส่งซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อ “ราคาของผลไม้” และต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการรักษาเสถียรภาพของ “ราคาผลไม้” ในภาคตะวันออกให้กับเกษตรกร สกพอ. อบจ.ระยอง และ ปตท. จึงร่วมมือกันในการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับ “ผลผลิตผลไม้”ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในเร็ว ๆ นี้ ด้วยการเข้าไปช่วยรับซื้อ “ผลไม้” ตรงจากเกษตรกร จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ เพื่อขยายช่องทางตลาดภายในประเทศ รวมถึงจัดเตรียมคลังห้องเย็นสำหรับจัดเก็บรักษา “ผลไม้” ช่วยยืดอายุผลผลิต คงความสดและรสชาติได้นาน ซึ่งจะช่วยขยายตลาดภายในประเทศจากเกษตรกรสู่ผู้บริโภคโดยตรง ไม่ผ่านคนกลาง ผู้บริโภคได้สินค้าคุณภาพดีในราคามิตรภาพและช่วยกระจายสินค้าภายในประเทศได้มากขึ้น

LINE ALBUM mou 28 4 65 220428 1
อีอีซี-อบจ.ระยอง-ปตท. จับมือรับซื้อผลไม้ตรงจากชาวสวน

สำหรับห้องเย็นจะช่วยพยุงราคาสินค้าในพื้นที่ไม่ให้ตกต่ำในกรณีที่ส่งออกไม่ทันและราคาลดลง ซึ่งจะสร้างทางเลือกให้เกษตรกรในการเก็บรักษาผลผลิตเพื่อรอจำหน่ายในช่วงนอกฤดูกาลที่มีราคาสูงเป็นการยกระดับ “ราคาผลไม้” ให้มีเสถียรภาพขึ้นและทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

บันทึกข้อตกลงฯ ครั้งนี้ จึงเป็นความร่วมมือจากทั้ง 3 หน่วยงาน ดังนี้

  1. จัดตั้งศูนย์รับซื้อและรวบรวมผลไม้วงเงิน 100 ล้านบาท โดย อบจ.ระยอง ได้ร่วมกับผู้ประกอบการ และภาคเอกชน จะทำหน้าที่จัดหาและรวบรวบ “ผลไม้” ที่ผ่านการคัดคุณภาพตามมาตรฐาน สด สะอาด และปลอดภัย และกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคภายในประเทศ
  1. จัดเตรียมคลังห้องเย็น โดย ปตท. เป็นผู้จัดเตรียมคลังห้องเย็นสำหรับจัดเก็บ “ผลไม้แช่แข็ง” ซึ่งรองรับปริมาณผลผลิตประมาณ 7,000 – 8,000 ตัน ให้บริการแก่เกษตรกร และผู้ประกอบการต่าง ๆ ให้มีทางเลือกในการเก็บรักษาและคงคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสามารถรอจำหน่ายในช่วงนอกฤดูกาลผลิต
  1. การประชาสัมพันธ์ โดย สกพอ. ทำหน้าที่จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ และช่วยขยายช่องทางการตลาดในกลุ่มพันธมิตรภายในพื้นที่ อีอีซี เช่น กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มผู้ประกอบการแปรรูปผลไม้ กลุ่มสถานประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ และภาคเอกชนนอกพื้นที่ต่าง ๆ
เลขาธิการอีอีซี กล่าวเสริมว่า"ทุเรียน" เป็นผลไม้หลักของระยองและเป็น 1 ใน5 คลัสเตอร์หลักของแผนพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่ "EEC" โดยจะดำเนินการในเรื่องของการตลาด การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยี ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะซึ่งได้มีการดำเนินงานไปแล้วร่วมกับ สวทช.เช่น ระบบการให้น้ำและถุง Magik Growth เป็นต้น