ก.เกษตรฯจับมือญี่ปุ่น มุ่งส่งเสริมการค้า ยกระดับความร่วมมือเกษตรอย่างยั่งยืน

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ผลสำเร็จของการประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษร่วมด้านการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น ภายใต้กรอบ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 14 – 15 กันยายน 2565 ว่า ภายหลังการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ได้มีการร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น 

โดยได้สั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ ผนึกกำลังร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง การประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษร่วมด้านความปลอดภัยอาหาร และการประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษร่วมด้านการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น ภายใต้กรอบ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) ครั้งที่ 12 พร้อมกันทั้ง 3 คณะฯ 

D7E372F0 1998 4010 922B DE284C19C4BF

โดยมอบหมายให้นายพิศาล พงศาพิชณ์ (เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) นางสาวกรนภา ชัยวัฒน์ (ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ รักษาราชการในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสหกรณ์) และ ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ (ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ) เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง และกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น

ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ กล่าวเพิ่มเติมภายหลังการประชุมว่า กรอบการประชุม JTEPA ครั้งที่ 12 ประสบความสำเร็จอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าด้านการเจรจาเปิดตลาดและขยายโอกาสการค้าสินค้าเกษตร อาทิ ส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง การเร่งรัดการส่งออกมังคุดไทยโดยที่ไม่ต้องอบไอน้ำ และการกำหนดค่ามาตรฐานของสาร Fosetyl-aluminium ในข้าว นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้มีการประกาศความสำเร็จของโครงการ ความร่วมมือด้านวิชาการต่างๆในช่วงที่ผ่านมา อาทิ โครงการการจัดการหลังเก็บเกี่ยวและการพัฒนาฐานชุมชนสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน(กาแฟอาราบิกา) โครงการศึกษาการออกแบบวางผังที่ดินเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรม และโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางห้องปฏิบัติการของไทยให้สามารถตรวจสอบคุณภาพยาสัตวได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

A8BB3DD5 4F41 4359 B6A8 85D7785081FB

รวมทั้งการนำเสนอโครงการใหม่ ๆ ที่จะเป็นการยกระดับความร่วมมือเกษตรระหว่างกัน ครอบคลุมการดำเนินงานตามนโยบาย BCG อาทิ โครงการพัฒนาและเพิ่มโอกาสในการส่งออกอาหารฟังก์ชัน ของไทย(Functional Foods) โครงการพัฒนาผู้นำสหกรณ์สู่เกษตรอัจฉริยะ และโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าอาหารและเกษตรยั่งยืน 

ปัจจุบันญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อการพลิกโฉมระบบการเกษตรและอาหารของโลกเพื่อให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยได้มีการนำเสนอแนวคิดและกรอบความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ (Key Factors) 3 ประการ ได้แก่ การเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและการพัฒนาระบบอาหารที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและมีความยั่งยืน การส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะและเกษตรดิจิทัล และการส่งเสริมการทำการเกษตรที่ลดปัญหาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่าน 4 กลไก(Schemes) ได้แก่ ความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนา ความร่วมมือระดับทวิภาคี ความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งในอนาคตกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะยกระดับความร่วมมือและความสัมพันธ์กับฝ่ายญี่ปุ่น ทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรไทยในตลาดโลก

สำหรับประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 3 ของไทย ในระหว่างปี 2562-2564 มีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรร้อยละ 8.67 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลก โดยในปี2564 การค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทย – ญี่ปุ่น มีมูลค่าประมาณ 158,625 ล้านบาท ซึ่งร้อยละ 92 เป็นการส่งออกจากไทยไปยังญี่ปุ่น ทั้งนี้ สินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไก่ อาหารสุนัขหรือแมว สินค้าประมง ยางแผ่นรมควัน ยางธรรมชาติ และข้าว