รองปลัดเกษตรฯ นั่งหัวโต๊ะคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือและอีสาน เห็นชอบนำร่องแก้ไขปัญหาลำไยอย่างยั่งยืน

รองปลัดเกษตรฯ นั่งหัวโต๊ะคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นชอบในหลักการ“โครงการนำร่องแก้ไขปัญหาลำไยอย่างยั่งยืน” มั่นใจแนวทางลดผลผลิตในฤดู เพิ่มนอกฤดู บริหารจัดการง่าย เกษตรกรได้ประโยชน์

นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบการประชุมทางไกล Application Zoom Cloud Meetings โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนเกษตรกรในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

S 30441878
นำร่องแก้ไขปัญหาลำไยอย่างยั่งยืน

โดยที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการ “โครงการนำร่องแก้ไขปัญหาลำไยอย่างยั่งยืน”และเตรียมนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ พิจารณาเห็นชอบต่อไป ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตลำไยจากในฤดูให้เป็นนอกฤดูเพิ่มขึ้น และส่งเสริมการผลิตลำไยคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด

มีเป้าหมายให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการจากพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง ตาก และแพร่

โดยกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับ 8 จังหวัดภาคเหนือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตลำไยคุณภาพครอบคลุมทั้งในและนอกฤดู และนำเกษตรกรและเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการผลิตลำไยคุณภาพกับแหล่งผลิตอื่น สนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อพัฒนาลำไยคุณภาพ สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อพัฒนาสวนลำไยด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม สร้างเทคนิคการบริหารจัดการกลุ่มให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน (Core Team ระดับจังหวัด ทั้ง 8 จังหวัด) สร้างทีมงานการบริหารจัดการสวนลำไยอย่างมืออาชีพ (Core Team ระดับภาค) สนับสนุนการจัดทำแปลงเรียนรู้ในการผลิตลำไยคุณภาพ

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้รายงานผลการบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) ปี 65 โดยการผลิตลำไยในฤดูภาคเหนือ ฤดูกาลผลิต ปี 2565 มีพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญในภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และจังหวัดตาก มีเนื้อที่ยืนต้น 1,067,515 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 1,026,187 ไร่ ประมาณการผลผลิต จำนวน 764,777 ตัน ผลผลิตเก็บเกี่ยวจริง 744,008 ตัน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 กันยายน 2565 เก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นทุกจังหวัดแล้ว) กระจายผลผลิตการบริโภคสดภายในประเทศ 138,677 ตัน การแปรรูป 511,434 ตัน และการส่งออก 92,451 ตัน

สำหรับประมาณการผลผลิตจะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ในเดือนสิงหาคม จำนวน 377,567 ตัน คิดเป็นร้อยละ 49.37 โดยระหว่างวันที่ 1 – 20 สิงหาคม 2565 มีผลผลิตออกสู่ตลาด รวม 381,506 ตัน คิดเป็นร้อยละ 49.89 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานเกษตรจังหวัด 8 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขสถานการณ์ผลผลิตกระจุกตัว ร่วมกับ คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.)

โดยดำเนินการดังนี้ 1) เฝ้าระวังการซื้อขายผลิตโดยเฉพาะในช่วง Peak ที่ราคาอาจตกต่ำ 2) การกำหนดมาตรฐานการรับซื้อที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกล้ง 3) การเร่งกระจายผลผลิตลำไยสดออกนอกแหล่งผลิต

4)ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการบริโภคลำไยคุณภาพในทุกช่องทาง 5) จัดงานประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการบริโภคในจังหวัดปลายทางนอกแหล่งผลิต 6) เพิ่มจุดจำหน่ายในจังหวัด/แหล่งท่องเที่ยวและจัดงานเทศกาลลำไย 7) ส่งเสริมเกษตรกรจำหน่ายผลผลิตลำไยคุณภาพผ่านตลาดออนไลน์ และ8) ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชื่อมโยงร้านธงฟ้า และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)