ว่าที่ปลัดเกษตรฯป้ายแดง หารือม็อบเขื่อนราศีไศล มั่นใจกระทรวงเกษตรฯ ทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเต็มที่

นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ตัวแทนจากกลุ่มสมัชชาเกษตรกรภาคอีสานและกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรอีสานซึ่งทั้งสองกลุ่มนำมวลชน ประมาณ 1,000 คน มาชุมนุมบริเวณเกาะกลางหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์และบริเวณใกล้เคียง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรที่ดินแปลงอพยพ หรือจ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินแปลงอพยพให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล จังหวัดสุรินทร์

สำหรับการหารือตัวแทนของกลุ่มสมัชชาเกษตรกรภาคอีสานและกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรอีสาน มีข้อเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานระดับจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง

308064626 515522437246003 2625010394314501878 n
ก.เกษตรฯ เจรจาม็อบเขื่อนราศีไศล

นายประยูร ได้แจ้งต่อที่ประชุมและกลุ่มเกษตรกรทั้ง 2 กลุ่ม ว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปแล้ว และที่ประชุมได้มอบหมายกรมชลประทานดำเนินการ 3 ประเด็น และแจ้งฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณานำเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาต่อไป ดังนี้

1) ให้ตรวจสอบความถูกต้องของระเบียบต่าง ๆ ว่าสามารถใช้หลักเกณฑ์ใดได้บ้างในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

2) ขอให้ตรวจสอบโครงการฝายราษีไศลว่าเป็นโครงการขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่

และ 3) ขอให้จัดทำฐานข้อมูลของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวฯ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการช่วยเหลือต่อไป ซึ่งกรมชลประทานได้มีหนังสือขอให้หน่วยงานชลประทานในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ตรวจสอบ โดยในขณะนี้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบและจัดทำข้อมูลตามมติที่ประชุม และหากกรมชลประทานและจังหวัดสุริทร์ส่งข้อมูลแล้ว จะได้มีการประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ผลการหารือ กลุ่มสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน และกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรอีสาน รับทราบและมีความพอใจ รวมถึงไม่มีข้อเรียกร้องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพิ่มเติม

สำหรับเขื่อนราศีไศล เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2534 ตรงบริเวณปากห้วยทับทันไหลลงสู่แม่น้ำมูน ตัวโครงการตั้งอยู่บริเวณ บ้านดอนงูเหลือม ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีษะเกษ เริ่มกักเก็บน้ำเมื่อปี 2536 การดำเนินงานโครงการไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมก่อนดำเนินโครงการ ขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของชุมชน และไม่มีการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น