ครั้งแรก! ‘ดวงตาจักรวาลจีน’จับภาพ‘สนามแม่เหล็ก’นอกทางช้างเผือก

กลุ่มนักดาราศาสตร์นานาชาติใช้ฟาสต์(FAST) กล้องโทรทรรศน์วิทยุจานรับสัญญาณเดี่ยวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 500 เมตร หรือ “ดวงตาจักรวาลจีน” เพื่อบันทึกภาพสนามแม่เหล็กที่อยู่ใกล้การปะทุสัญญาณวิทยุแบบฉับพลัน (FRB) จากนอกกาแล็กซีทางช้างเผือกสำเร็จเป็นครั้งแรก

อนึ่ง การปะทุสัญญาณวิทยุแบบฉับพลันเป็นการลุกวาบสว่างที่สุดในอวกาศของคลื่นวิทยุที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่มิลลิวินาที ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบแหล่งที่มา

คณะนักดาราศาสตร์จีนและสหรัฐฯ ซึ่งนำโดยนักดาราศาสตร์จากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติสังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ตรวจพบการปะทุ 1,863 ครั้ง ใน 82 ชั่วโมง ตลอด 54 วันจากแหล่งสัญญาณวิทยุแบบฉับพลันที่เกิดซ้ำ รหัสเอฟอาร์บี 20201124เอ (FRB 20201124A)

8A9FB70E 9D1F 4779 8DEA 68E3E3002929

ผลการศึกษาที่เผยแพร่ผ่านวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันพุธ (21 ก.ย.) เผยให้เห็นสภาพแวดล้อมสลับซับซ้อน มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วฉับพลัน และมีสนามแม่เหล็ก ภายในหน่วยทางดาราศาสตร์ (หรือระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์) ของแหล่งสัญญาณวิทยุข้างต้น

นอกจากนั้นคณะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบครั้งแรกว่าการวัดการหมุนแบบฟาราเดย์ (Faraday rotation) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความเข้มข้นของสนามแม่เหล็ก สั่นสะเทือนอย่างผิดปกติในช่วง 36 วันแรก ตามด้วยการคงตัวอีก 18 วัน

การค้นพบนี้เผยว่าการปะทุสัญญาณวิทยุแบบฉับพลันและลุกวาบ สิ้นสุดภายใน 72 ชั่วโมง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยตรวจพบมาก่อน ต่อมาทีมวิจัยจึงใช้กล้องโทรทรรศน์เคก (Keck Telescope) ในรัฐฮาวายของสหรัฐฯ สังเกตการณ์กาแล็กซีที่มีขนาดเท่าทางช้างเผือกและอุดมไปด้วยโลหะ

กาแล็กซีดังกล่าวเป็นกาแล็กซีกังหันแบบมีคาน (barred spiral) ซึ่งพบแหล่งกำเนิดการปะทุในภูมิภาคที่มีความหนาแน่นของดาวฤกษ์ต่ำระหว่างแขนกาแล็กซีทั้งสองฝั่ง และมีระยะห่างปานกลางจากศูนย์กลางกาแล็กซี

การสังเกตการณ์การปะทุสัญญาณวิทยุแบบฉับพลันในทางช้างเผือกจำนวนหนึ่งเมื่อไม่นานนี้ บ่งชี้ว่าอย่างน้อยการปะทุประเภทนี้บางส่วนมีต้นกำเนิดมาจากดาวแมกนีทาร์ (magnetar)

527FFE76 85AB 49C3 8DAA 49CC3C1F7F0F

อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาชิ้นนี้เผยว่าแหล่งการปะทุสัญญาณวิทยุแบบฉับพลันที่เกิดซ้ำ รหัสเอฟอาร์บี20201124เอ ไม่น่าจะเป็นดาวแมกนีทาร์อายุน้อยที่ก่อตัวระหว่างการระเบิดรุนแรงของดาวมวลมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดการปะทุของรังสีแกมมาแบบยาวหรือซูเปอร์โนวาสว่างยิ่งยวด (superluminous supernova) สร้างความซับซ้อนเกี่ยวกับที่มาของการปะทุดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

อนึ่ง กล้องโทรทรรศน์ฟาสต์ตั้งอยู่ในแอ่งคาสต์ทรงกลมลึกตามธรรมชาติในมณฑลกุ้ยโจวของจีน ได้ชื่อว่าเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ตอบสนองเร็วที่สุดในโลก และเริ่มเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2020 ก่อนเปิดให้ทั่วโลกใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2021

 ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว (XinhuaThai)