ดาวเทียมส่อง ผลกระทบจากพายุโนรู พื้นที่อีสาน-เหนือตอนล่างไปจนถึงภาคกลาง คาดเสี่ยงน้ำท่วม 1.82 ล้านไร่ นาข้าว 6.19 แสนไร่

GISTDA ใช้ข้อมูลสถิติน้ำท่วมจากดาวเทียมที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาวิเคราะห์ร่วมกับแนวพายุที่พาดผ่าน และการคาดการณ์ฝน พบว่าระหว่างวันที่ 29 – 30 กันยายน 2565 หลายพื้นที่รวม 23 จังหวัด 154 อำเภอ ตั้งแต่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปจนถึงภาคเหนือตอนล่าง (วงกลมสีน้ำเงินคือแนวพายุพาดผ่าน) รวมถึงพื้นที่ภาคกลาง มีความเสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำท่วมขัง (สีม่วง) ประมาณ 1.82 ล้านไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มเจ้าพระยา ลำน้ำสายรองต่าง ๆ ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ รวมถึงพื้นที่ลุ่มต่ำ ชุมชนที่อยู่อาศัย และเส้นทางคมนาคม สำหรับพื้นที่นาข้าวคาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 6.19 แสนไร่

309384365 465869785579563 1714299656180656860 n 1

นอกจากนี้ GISTDA ยังใช้ข้อมูลภาพจากดาวเทียม ICEEYE และ COSMO-SkyMed-1 ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดจากอิทธิพลพายุดีเปรสชันโนรู พบพื้นที่น้ำท่วมแล้ว ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 422,002 ไร่ ได้แก่ ขอนแก่น 16,644 ไร่ มหาสารคาม 3,169 ไร่ ร้อยเอ็ด 74,078 ไร่ ยโสธร 51,913 ไร่ อำนาจเจริญ 26,875 ไร่ อุบลราชธานี 45,012 ไร่ ศรีสะเกษ 95,181 ไร่ สุรินทร์ 90,424 ไร่ บุรีรัมย์ 10,399 ไร่ นครราชสีมา 5,630 ไร่ ชัยภูมิ 1,017 ไร่ หนองบัวลำภู 1,273 ไร่ กาฬสินธุ์ 219 ไร่ และอุดรธานี 169 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล และพื้นที่เกษตรกรรมลุ่มต่ำรวมถึงชุมชนที่อยู่อาศัย เส้นทางคมนาคม

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา “พายุโนรู” ฉบับที่ 23 ลงวันที่ 29 กันยายน 2565 มีเนื้อหาดังนี้

เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันนี้ (29 ก.ย. 65) พายุดีเปรสชัน “โนรู” มีศูนย์กลางอยู่บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ หรือที่ละติจูด 16.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 102.0 องศาตะวันออก โดยมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 50 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 10 กม./ชม. คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในระยะต่อไป

ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีลมแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งให้ระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้

วันที่ 30 กันยายน 2565

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร
พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา และบุรีรัมย์

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 1 ต.ค. 65