ช่วงนี้บ้านเราเข้าสู่ฤดู“ทุเรียน”ออกดอกออกผล สร้างรายได้ให้กับ “ชาวสวนทุเรียน” อย่างงาม
แต่สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศร้อนและฝนตกหนักบางพื้นที่ เตือน “ผู้ปลูกทุเรียน” ในระยะ ออกดอก ติดผล รับมือ “เพลี้ยไฟพริก” ซึ่งทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากเขี่ยและดูดกินน้ำเลี้ยงส่วนอ่อนต่าง ๆ ของพืช มีผลทำให้ใบอ่อนหรือยอดอ่อนชะงักการเจริญเติบโตแคระแกร็น ใบโค้ง แห้งหงิกงอและไหม้
การทำลายในช่วงดอกทำให้ดอกแห้ง ดอกและก้านดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแคระแกร็นและร่วงได้และในช่วงผลอ่อน ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต หนามเป็นแผลและเกิดอาการปลายหนามแห้ง ผลไม่สมบูรณ์และแคระแกร็น เพลี้ยไฟจะระบาดรุนแรงในช่วงแล้ง ระหว่างธันวาคม–พฤษภาคมซึ่งตรงกับระยะที่ “ต้นทุเรียน” ออกดอกติดผล “เพลี้ยไฟ”มีอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ สามารถเพิ่มปริมาณได้มาก
สำหรับ “เพลี้ยไฟ” เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมาก ลำตัวยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ตัวอ่อนมีสีเหลือง ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลปนเหลือง เคลื่อนไหวรวดเร็ว มีวงจรชีวิตสั้น แพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว มีนิสัยชอบอยู่ในที่ซ่อนเร้น เช่น ภายในยอดอ่อน ช่อดอก และผลอ่อนของพืช ตัวเมียจะวางไข่ภายใต้ผิวเนื้อเยื่อของพืช ทำให้รอดพ้นจากฤทธิ์ของสารเคมี ดังนั้น จึงสังเกต “เพลี้ยไฟ” ที่เข้าทำลายพืชในระยะเริ่มแรกได้ยากด้วยตาเปล่า การป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟให้ได้ผลดี จึงเป็นเรื่องยากสำหรับเกษตรกร การเรียนรู้ถึงวิธีป้องกันและกำจัด “เพลี้ยไฟ” อย่างถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ
วิธีกำจัด “เพลี้ยไฟ” ให้อยู่หมัด
- สำรวจการระบาดของ “เพลี้ยไฟ” ในระยะแตกใบอ่อน ดอก และผลอ่อน หากพบ “เพลี้ยไฟ“ระบาดเล็กน้อยให้ตัดส่วนที่ถูกทำลายทิ้ง
- เมื่อพบ “เพลี้ยไฟ”ระบาดรุนแรง ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด เช่น อิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบเพลี้ยไฟเฉลี่ยมากกว่า 1 ตัวต่อยอด ช่อหรือผล และไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำติดต่อกันหลายครั้ง เพราะทำให้ “เพลี้ยไฟ” สร้างความต้านทานได้