นายกฯแนะใช้”วิทยุทรานซิสเตอร์”เตือนประชาชน หากการสื่อสารล่ม ชี้เคยได้ผลมาแล้วปี’54

นายกรัฐมนตรีห่วงปัญหาแจ้งเตือนประชาชน แนะเตรียมแผนไว้ด้วยหากเกิดปัญหา ให้ใช้วิทยุทรานซิสเตอร์เตือนประชาชน หากสื่อสาร ไฟฟ้า ประปาล่ม ชี้เคยได้ผลมาแล้วเมื่อปี’54

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้าร่วมการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดารมว.มหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม 

ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวรายงานสถานการณ์เบื้องต้นว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่ได้รับผลกระทบ พร้อมแจ้งว่าการประชุมครั้งนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับผลกระทบรายงานให้นายกฯรับทราบ ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.)

7DA6305F 7DCA 4CF9 A0A8 62189A4D9364

ช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในวันนี้ได้เขียนร่างนโยบายที่จะสั่งการมาแล้ว ทั้งเรื่องพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อแจ้งเตือนประชาชน ซึ่งทุกหน่วยงานต้องเตรียมความพร้อมตามแผนงาน เรื่องการก่อสร้างถนนต่างๆ ต้องมีจุดระบายน้ำ รวมถึงเส้นทางจราจรต่างๆ ต้องเฝ้าระวัง และมีการปักแนวให้เห็นว่าถนนอยู่จุดไหนเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเวลาที่มีน้ำท่วมขังถนน 

พร้อมกันนี้ต้องเร่งสำรวจเพื่อเร่งเยียวยา ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีระยะเวลาผลกระทบไม่เท่ากัน แต่รัฐบาลจะเร่งเยียวยาและพร้อมสนับสนุนงบประมาณไว้ให้ ถ้าทำเร็ว ก็ได้ช่วยเหลือเร็ว ถ้ารัฐบาลจะช่วยเหลืออะไรเพิ่มเติมก็จะพิจารณาต่อไป ส่วนกรณีพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังก็ขอให้ช่วยกัน เราต้องทำงานไปด้วยกัน รัฐ ประชาชนธุรกิจ เอกชน จิตอาสาทั้งหมด นั่นคือคนไทยด้วยกัน จะต้องช่วยกัน ข้าราชการจะเป็นหลัก 

ขณะที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน อาสาสมัครฝ่ายพลเรือน จิตอาสา ซึ่งตนจำได้ว่าสมัยก่อนเมื่อปี 2554 เคยมีการขอความร่วมมือจากสมาคมรถบรรทุกต่างๆให้มาช่วยเหลือในการขนคนเดินทาง ซึ่งเขาก็ให้ความร่วมมือ รวมถึงมูลนิธิต่างๆ ตรงนี้ต้องประสานกัน ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดนายอำเภอ กำนัน ส่วนปกครองท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชน จะต้องสร้างความเข้าใจเรื่องแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ซึ่งในส่วนของ กทม.ก็มีประชาสัมพันธ์อยู่แล้วทุกอย่าง เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานขณะที่กรมประชาสัมพันธ์ต้องประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง

F1F3843C 5F22 4097 9969 2F101248F6EB

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า สำหรับการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเศรษฐกิจ พื้นที่สุขภาพที่เกี่ยวกับโรงพยาบาลด้านสาธารณสุข ก็ต้องดูแลให้สามารถเข้าบริการได้ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการให้บริการไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ก็ต้องให้ใช้ได้นานที่สุด ถ้าระบบมันล่มไปทั้งหมด การสื่อสารแจ้งข้อมูลจะทำได้ลำบาก อาจจะต้องไปใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการออกอากาศแจ้งเตือนประชาชนได้อีกทาง ซึ่งเคยใช้กันเมื่อปี 2554 เพราะตอนนั้นไฟฟ้าดับหมด ดังนั้นเราต้องเตรียมแผนตรงนี้ไว้ด้วยในกรณีที่อาจจะเกิดปัญหา

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากนี้ การเตรียมความพร้อมเรื่องศูนย์อพยพ จะต้องทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ต้องมีอาหารน้ำสำหรับคนและสัตว์ ทั้งนี้ ตนดูข่าวจากโทรทัศน์ พบว่าบางพื้นที่น้ำท่วมครึ่งเอว แต่ประชาชนยังไม่ออกมา แต่ก็โทษเขาไม่ได้ เพราะบางที เขาห่วงสมบัติ การขนย้ายสิ่งของมีความลำบาก อย่างไรก็ตาม ก็ต้องให้กำลังใจผู้ว่าฯและนายอำเภอ ซึ่งพวกท่านเป็นผู้บังคับบัญชาระดับล่างและถือเป็นระดับที่ใกล้ชิดกับประชาชน ทั้งนี้ ตนก็จะเดินทางไปดูแลช่วยเหลือและเยียวยาต่างๆ ให้มากที่สุดในส่วนของรัฐบาล ขณะที่ท้องถิ่น อบต. อบจ. คนในพื้นที่ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ทุกคนคือคนไทย เราต้องช่วยกันดูแล

“ผมเองก็ไม่รู้จะสั่งอะไร เพราะทั้งหมดอยู่ในแผนปฏิบัติของเราอยู่แล้ว นายกฯแค่มาย้ำหน่อย ให้กำลังใจฝากถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ประชาชนทุกจังหวัด ผมทำหน้าที่ของผม หน้าที่ของรัฐบาล หน้าที่ของข้าราชการที่ดีของพวกเราทุกคน ขอบคุณทุกคน และขอให้ทุกคนปลอดภัย ผมพยายามจะทยอยไปเยี่ยมไม่ทิ้งใคร เพราะพวกเราคือคนไทยด้วยกันทุกคน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ส่วนในวันพรุ่งนี้ (4 ต.ค.)นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำ และพบปะประชาชนเพื่อให้กำลังใจขณะที่ต้องประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัย ที่ จ.ขอนแก่น และจ.อุบลราชธานี โดยจะเลื่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นวันพุธที่ 5 ต.ค.65 แทน

6DD87109 69CF 4E45 9597 0CEEA68BE05B