คุณหญิงกัลยา หนุนเพิ่มศักยภาพครู-นักเรียน จับมือภาคเอกชนต่างประเทศ ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเกษตร

วันที่ 5 ตุลาคม 2565 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานสักขีพยาน ในการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาหลักสูตรเตรียมความพร้อมครูในการจัดการเรียนรู้การเกษตรอัจฉริยะ Smart Agriculture ระหว่าง สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคเหนือ ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(SEAMEO STEM-ED)และ บ. Shandong Dolang Technology Equipment จํากัด ในการพัฒนาหลักสูตรเตรียมความพร้อมครู ในการจัดการเรียนรู้การเกษตรอัจฉริยะ Smart Agriculture โดยมี นายประจักษ์ ทาสี ผู้อำนวยการสถาบันเกษตรภาคเหนือ ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อํานวยการ ศูนย์ SEAMEO STEM-ED และนายเจียง จั๋วตง ประธานกรรมการ บริษัท Shandong Dolang (ชานตง โดแลง) ลงนามความร่วมมือ ไปเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ณ กระทรวงศึกษาธิการ

LINE ALBUM %E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%A8. %E0%B9%92%E0%B9%92%E0%B9%91%E0%B9%90%E0%B9%90%E0%B9%95 6
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรเตรียมความพร้อมครูจัดการเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า มีความยินดีอย่างยิ่งที่ความร่วมมือในครั้งนี้ได้นำไปสู่การต่อยอดโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ SEAMEO STEM-ED และ บริษัท Shandong Dolang Technology Equipment จำกัด และ วิทยาลัย Jinan Vocational College สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จะมาถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีนวัตกรรม และช่วยพัฒนากำลังคนให้กับสถาบันอาชีวศึกษาเกษตร ให้มีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาศักยภาพของผู้สอนและผู้เรียนด้านเกษตรอัจฉริยะ โดยนำร่องที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน

“ในฐานะที่ดิฉันกำกับดูแลวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรและศักยภาพครู นักเรียนให้มีสมรรถนะ ประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพด้านเกษตรทันต่อการเปลี่ยนแปลงของ VUCA World ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศนำองค์ความรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะซึ่งเป็นการผสมผสานการใช้เทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาด้านการเกษตรมาปรับใช้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ทำให้การแข่งขันด้านการเกษตรระหว่างประเทศท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ ” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

นอกจากนี้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ยังช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลช่วยเหลือสนับสนุนในการดำเนินงานโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียนสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่จะมีการขยายผลไปอีก 300 แห่งในภูมิภาคต่าง ๆ จึงหวังว่าการใช้ศักยภาพของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมมือกันในครั้งนี้ จะเป็นการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะให้เกิดเป็นรูปธรรมและปลูกฝังให้กับยุวเกษตรรุ่นใหม่ต่อไป

ด้าน ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED กล่าวว่า การร่วมลงนามความร่วมมือมุ่งเน้นพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาวิชาชีพที่ต้องใช้สะเต็ม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะเพื่ออาชีพ ทั้งระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษาในระดับที่สูงขึ้น และการพัฒนาสมรรถนะเพื่ออาชีพที่มีการรับรองมาตรฐาน ซึ่งบริษัท Shandong Dolang Technology Equipment จำกัด จะนำองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการเกษตรมาพัฒนาการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีการเกษตร โดยการพัฒนากำลังคนให้กับสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคเหนือ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้และส่งต่อให้กับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปยังโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ซึ่งเป็นการต่อยอดโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน โดยจะจัดตั้ง Career Academy ด้าน Smart Agriculture แห่งแรก ในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน เพื่อพัฒนาครูและบุคลากรในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตต่อไป

สำหรับความร่วมมือนี้จะเริ่มดำเนินการในประเทศไทยเป็นแห่งแรกและมีเจตนารมณ์จะขยายความร่วมมือไปยังประเทศสมาชิก SEAMEO ในช่วงเวลาเหมาะสมต่อไป ซึ่งการดำเนินงานในขั้นต้น จะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาให้ครู อาจารย์อาชีวศึกษาได้ใช้หลักสูตรและนวัตกรรมการเรียนการสอน อุปกรณ์ สื่อการสอนใหม่ ๆ ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน รับเป็นศูนย์ฝึกอบรม SEAMEO STEM-ED – DOLANG แห่งแรกและจะได้รับการรับรองการฝึกอบรมของสถานศึกษา หากมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนด