สศก. เผยผลโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตรปี 65 ไตรมาส 3 ช่วยเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในครัวเรือน

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร ปี 2565 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง รวมกลุ่มกันผลิตสินค้าที่มีมูลค่า พึ่งพาตนเองได้ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

310930968 410068011299541 7659783004712568463 n
ผลโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตรปี 65

โดยโครงการฯ มีการดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้และมอบปัจจัยสนับสนุน ตามความต้องการของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม รวมเป้าหมายเกษตรกร 584 กลุ่ม 77 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็น กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 20 กลุ่ม กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร 154 กลุ่ม กลุ่มยุวเกษตรกร 154 กลุ่ม กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร 231 กลุ่ม และชุมชนในพื้นที่ดำเนินการของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ 25 ชุมชน สำหรับโครงการฯ ดังกล่าว มีกรมหม่อนไหม กรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ซึ่ง สศก. ร่วมบูรณาการติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ โดยจากการติดตามช่วงไตรมาส 3 (ตุลาคม 2564 – สิงหาคม 2565) มีการดำเนินกิจกรรม รวม 3 กิจกรรม ดังนี้

กิจกรรมพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยกรมหม่อนไหมอบรมถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กลุ่มเกษตรกรแล้วจำนวน 20 กลุ่ม ครบตามเป้าหมาย เกษตรกรนำความรู้ และปัจจัยการผลิตที่ได้รับไปผลิตสินค้าจำหน่ายทั้งภายในกลุ่มและของตนเอง อาทิ สบู่และโลชั่นจากโปรตีนไหม ลูกหม่อนหยี น้ำมัลเบอร์รี่ พวงกุญแจและกระเป๋าสตางค์จากเศษผ้าไหม เป็นต้น โดยหลังเข้าร่วมโครงการ เกษตรกรมีรายได้ 10,694.75 บาท/เดือน/ราย เพิ่มขึ้นจากก่อนเข้าร่วมโครงการ ที่มีรายได้ 10,085.65 บาท/เดือน/ราย (เพิ่มขึ้น 609.10 บาท/เดือน/ราย หรือร้อยละ 6)

กิจกรรมพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จัดอบรมถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กลุ่มเป้าหมายแล้ว 539 กลุ่ม (ประกอบด้วย กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร 154 กลุ่ม กลุ่มยุวเกษตรกร 154 กลุ่ม และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร 231 กลุ่ม) ครบตามเป้าหมาย โดยเกษตรกรมีการนำความรู้และปัจจัยการผลิตที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าของตนเองและของกลุ่มจำหน่าย ซึ่งหลังเข้าร่วมโครงการเกษตรกรมีรายได้ 15,429 บาท/เดือน/ราย เพิ่มขึ้นจากก่อนเข้าร่วมรวมโครงการที่มีรายได้ 14,097 บาท/เดือน/ราย (เพิ่มขึ้น 1,332 บาท/เดือน/ราย หรือร้อยละ 9) นอกจากนี้ ยังส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่มีเครือข่ายเพิ่มขึ้น กลุ่มมีแหล่งซื้อ/แหล่งจำหน่ายวัตถุดิบ/ผลผลิตระหว่างกลุ่ม ตลอดจนเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ระหว่างกลุ่มร่วมกัน

กิจกรรมสร้างความเข้มแข็งชุมชนในการสร้างรายได้จากความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ จัดประชุมเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพการผลิตสินค้าและบริการจากความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามหลักการของ BEDO’s Concept อาทิ การผลิตจานใบไม้ เพื่อลดการใช้พลาสติก เป็นต้น ส่งผลให้ชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชนแล้วเฉลี่ย 21,825 บาท/เดือน/ชุมชน ทั้งนี้ ทางชุมชน ที่ได้รับการพัฒนาและส่งเสริม ยังมีมีการแบ่งปันรายได้ไปอนุรักษณ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนแล้ว เช่น ช่วยปลูกป่าภายในชุมชนเพื่อเพิ่มวัตถุดิบ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้กับชุมชน ทำแนวกันไฟบริเวณป่า ทำปุ๋ยหมักสำหรับใช้ปลูกพืชภายในชุมชน เป็นต้น

ด้าน ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มเกษตรกรมีการนำความรู้ที่ได้รับ ไปผลิตเป็นสินค้าของกลุ่มและมีการต่อยอดเป็นสินค้าอื่นเพิ่มเติม ทำให้กลุ่มมีสินค้าจำหน่ายหลากหลายขึ้น แต่เกษตรกรยังคงมีการผลิตและจำหน่ายตามคำสั่งซื้อของลูกค้า รวมถึงมีความต้องการขอรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ให้กับสินค้าของกลุ่ม/ตนเอง สนใจการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของสินค้าให้มีความสวยงาม และการทำการตลาดออนไลน์ ดังนั้น สศก. จะมีการนำผลการติดตามไปนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการปรับปรุง และต่อยอดโครงการฯ ได้สำเร็จขตามวัตถุประสงค์ต่อไป

ทั้งนี้ โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกรด้านการเกษตร ได้เริ่มดำเนินการมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยในปีงบประมาณ 2564 ได้ดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรผ่านกระบวนการถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต/วัสดุอุปกรณ์การผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ทั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จำนวน 25 กลุ่ม กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร จำนวน 308 กลุ่ม กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จำนวน 533 กลุ่ม ซึ่ง สศก. จะมีการติดตามประเมินผลเพื่อหาผลกระทบ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง และรายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป