ยุทธศาสตร์“Common Prosperity”ของจีน อีกโมเดล นำมาประยุกต์ใช้กับภาคเกษตรกรรมของไทยได้

การสนับสนุนให้เจ้อเจียงเป็นเขตสาธิต “Common Prosperity” หรือ ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ระดับชาติเช่นเดียวกับการสนับสนุนเซินเจิ้นให้เป็นพื้นที่สาธิตการพัฒนาสังคมนิยมแบบมีอัตลักษณ์ของจีนรวมถึงการสนับสนุนให้เขตผู่ตงของเซี่ยงไฮ้ปฏิรูปและเปิดกว้างเป็นพื้นที่ชั้นนำสังคมนิยมสมัยใหม่ที่มีมาตรฐานสูงและคุณภาพสูง ซึ่งนับเป็นการกระตุ้นบทบาทความสำคัญของเจ้อเจียงขึ้นอีกระดับหนึ่ง เจ้อเจียงจึงได้พยายามสร้างสรรค์และปฏิรูปครั้งใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” ตามที่รัฐบาลกลางจีนมอบหมายไว้

Common16 350x233 1
นโยบายCommon Prosperity”

สร้างสรรค์และปฏิรูปใหม่.. ภายใต้แนวคิด Common Prosperity

กว่า 1 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่เจ้อเจียงได้รับภารกิจ Common Prosperity แล้ว แต่ละเมืองได้มุ่งมั่นสร้างสรรค์และแสวงหาแนวทางการพัฒนาอย่างเต็มที่ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยสรุปได้ 4 แนวทางสำคัญ ดังนี้

Common17 1
“Common Prosperity”

1.จัดตั้งกลไกการทำงานใหม่ โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2564 รัฐบาลมณฑลเจ้อเจียงได้จัดตั้งคณะกรรมการก่อสร้างสังคมมณฑลเจ้อเจียง และรัฐบาลแต่ละเมืองได้ตั้งคณะกรรมการก่อสร้างสังคมประจำเมืองและประจำท้องถิ่นขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งกลายเป็นเครือข่ายกลไกการทำงานแบบบูรณาการตั้งแต่ระดับส่วนกลางของเจ้อเจียงไปจนถึงระดับท้องถิ่น

โดยคณะกรรมการฯ ของนครหางโจวได้ริเริ่มนโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันถึงกว่า 30 ภารกิจ อาทิ(1) การกระตุ้นให้รายได้ประชากรเขตชนบทมีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงกว่าการขยายตัวของ GDP เพื่อเร่งพัฒนาให้ประชาชนในชนบทมีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น (2) การปรับปรุงระบบการขนส่งสาธารณะ ค่าโดยสาร และระบบบริหารการจัดการคมนาคม (3) พัฒนาให้มีจำนวนโรงเรียนอนุบาลภายใต้มาตรฐานของภาครัฐสูงถึงร้อยละ 90 ของจำนวนโรงเรียนอนุบาลทั้งหมด เพื่อสร้างความเท่าเทียมในด้านการศึกษา (4) เพิ่มการก่อสร้างหรือยกระดับสวนสาธารณะในเมืองรวม 50 แห่ง (5) เพิ่มจำนวนที่พักอาศัยสำหรับเช่าในราคาย่อมเยาไม่ต่ำกว่า 100,000 ห้อง และ (6) เพิ่มการติดตั้งลิฟต์ในอาคารที่พักอาศัยทั่วเมืองไม่ต่ำกว่า 600 ตัว เป็นต้น

2.แสวงหาแนวทางสร้างความมั่งคั่งให้พื้นที่ชนบทโดยเมืองเส้าซิงในฐานะพื้นที่ทดลองปฏิรูปพื้นที่พักอาศัยชนบทของจีนพยายามคิดค้นโมเดลใหม่ภายหลังก่อตั้งคณะกรรมการฯ อาทิ ที่พักชนบท+ที่ดินเกษตรกรรม ที่พักชนบท+อุตสาหกรรม และ กลุ่มหมู่บ้าน+ครัวเรือนชนบท เพื่อพัฒนาพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่สร้างเสริมรายได้ในชนบท โดยเมื่อสิ้นปี 2564 เขตเคอเฉียวซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินโมเดลใหม่ได้ดึงดูดเงินทุนสะสมแล้ว 1,900 ล้านหยวน พัฒนาพื้นที่พักอาศัยในชนบทแล้ว 620,000 ตารางเมตร เพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนเกษตรกรรวม 87.48 ล้านหยวน และเพิ่มรายได้ให้กลุ่มหมู่บ้านรวม 71.56 ล้านหยวน

3.เพิ่มศักยภาพการประกอบอาชีพของเกษตรกรและเพิ่มโอกาสงานที่ไม่ใช่ภาคเกษตรกรรม เขตหวงเหยียนของเมืองไทโจวได้เคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากเข้ามายังพื้นที่ชนบท เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพให้กับเกษตรกร ช่วยให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ในพื้นที่ที่ตนเองพักอาศัย ซึ่งได้สร้างงานให้กับเกษตรกร 1,165 ราย นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินแผนงานฝึกอบรมเกษตรกร เพื่อยกระดับทักษะการทำงานอื่น ๆ นอกเหนือจากการเกษตร

4.ผลักดันการแบ่งปันบริการสาธารณะคุณภาพสูง โดยเขตฟู่หยางในชานเมืองนครหางโจวได้เร่งพัฒนาภาคการศึกษา ยกระดับการรักษาพยาบาล และเพิ่มหลักประกันสำหรับคนชรา เป็นต้น เพื่อให้มีความทัดเทียมกับเขตใจกลางเมืองของนครหางโจว

“เทคโนโลยี” ขับเคลื่อน.. กระจายความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

หัวใจสำคัญประการหนึ่งที่เจ้อเจียงนำมาใช้ขับเคลื่อนการดำเนินนโยบาย Common Prosperity คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

เมืองโจวซาน (เมืองหมู่เกาะแห่งเดียวในจีน ประกอบด้วยพื้นที่ 2,085 เกาะ มีชายฝั่งทะเลยาว 2,444 กิโลเมตร) เป็นเมืองตัวอย่างที่น่าสนใจ ซึ่งแม้จะมีที่ดินที่จำกัด มีประชากรน้อย และขาดอุตสาหกรรมที่หลากหลาย แต่รัฐบาลโจวซานมีความมุ่งมั่นจะพัฒนา 30 เกาะผ่านการดำเนินการ 3 ปี เพื่อให้กลายเป็นแบรนด์ดังสำหรับการพัฒนาคุณภาพสูงและพื้นที่สาธิตความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในเจ้อเจียง และเป็นการแสดงแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการพัฒนาเกาะทั่วโลก โดยปัจจุบันโจวซานได้กระจายเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปในแต่ละพื้นที่ เพื่อช่วยพัฒนาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจควบคู่กับยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในท้องที่ โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจ อาทิ

1.การริเริ่มโครงการก่อสร้างเมืองทางน้ำดิจิทัลของเขตผู่ถัว โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ (เช่น Cloud Computing, Big Data, AI ฯลฯ) การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล การสร้างแอปพลิเคชันดิจิทัล และการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้สนับสนุนให้อุตสาหกรรมประมงสามารถจัดการตลาดที่ครอบคลุม ขยายธุรกรรมออนไลน์ วิเคราะห์ข้อมูลได้รอบด้าน (เช่น การตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์) และสามารถตอบโจทย์แนวคิด “ปลาหนึ่งตัวสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งหมด” ซึ่งเป็นการชูศักยภาพด้านประมงในพื้นที่ เพื่อมุ่งสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันและการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง

2.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ในอำเภอเซิ่งซื่อ โดยสร้างเป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการแบบอัจฉริยะผ่านดิจิทัล ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ครอบคลุมถึงขนาดพื้นที่เพาะพันธุ์ จำนวนเรือและชาวประมง ฟังก์ชันการทำงานแบบเรียลไทม์ต่าง ๆ (เช่น การตรวจสอบน้ำทะเล การเฝ้าสังเกตการณ์ทางทะเล การถ่ายภาพทางอากาศ UAV ระบบ 5G และการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น) เพื่อเพิ่มผลผลิตหอยแมลงภู่อย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับการบริหารจัดการ ปรับปรุงเทคนิคที่เกี่ยวข้องของอุตสาหกรรรมเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ และมุ่งสู่ความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนในท้องถิ่น

3.การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในเขตติ้งไห่ โดยได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลกระจายเข้าไปในพื้นที่เกาะน้อยใหญ่ต่าง ๆ และปรับปรุงแอปพลิเคชันเครือข่ายท้องถิ่น เพื่อยกระดับในด้านบริการสาธารณะ เช่น การดูแลผู้สูงอายุด้วยระบบอัจฉริยะ การแพทย์ระบบดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาการรักษาพยาบาลในท้องถิ่นห่างไกลและเครือข่ายคมนาคมที่ไม่สะดวกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากเมืองโจวซานแล้วยังมีหมู่บ้านหวงตู้ อ.อานจี๋ เมืองหูโจว(เดิมเคยเป็นหนึ่งในหมู่บ้านยากไร้) ได้ใช้แอปพลิเคชัน “Zhenong Code” (แอปพลิเคชันที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลของบุคคลและสินค้าในสาขาเกษตรของมณฑลเจ้อเจียง) เพื่อช่วยบริหารจัดการการผลิตชา และเพิ่มรายได้ของเกษตรกร ซึ่งแอปพลิเคชันนี้ได้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การแปรรูป การหมุนเวียน สินเชื่อ การประกันภัย และการขาย จนกระทั่งประชาชนในท้องถิ่นมีรายได้จากการเพาะปลูกชาเฉลี่ยต่อคนสูงถึงปีละ 64,000 หยวน (ข้อมูลสถิติปี 2564) พร้อมกับมีศักยภาพในการช่วยเหลือพื้นที่อื่น ๆ ให้หลุดพ้นความยากจนด้วยการบริจาคชาเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้กว่า 6,600 รายใน 5 อำเภอรวม 3 มณฑล ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการกระจายความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันภายใต้ทฤษฎี Common Prosperity

ไทยจับมือเจ้อเจียง.. อำนวยผลประโยชน์ Win-Win

Common Prosperity เป็นอีกหนึ่งแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มีความเจริญรุ่งเรืองแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นกระจายความมั่งคั่งไปสู่พื้นที่ที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ เพื่อสร้างความเท่าเทียมและเจริญรุ่งเรืองแบบถ้วนหน้า โดยมุ่งเน้นยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีเป้าหมายคล้ายคลึงกับหลักปรัชญาของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่มุ่งให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ รวมถึงสามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นจนเกิดความยั่งยืน

นโยบาย Common Prosperity ยังมุ่งเน้นการสร้างความเจริญรุ่งเรืองควบคู่กับการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ก็มุ่งยกระดับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีความแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของไทย และกรอบความร่วมมือ APEC ที่มุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของวิสาหกิจ MSMEs จึงนับเป็นโอกาสดีที่ไทยและจีน (เจ้อเจียง) สามารถหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาและแสวงหาความร่วมมือเพื่ออำนวยผลประโยชน์ซึ่งกันและกันได้

ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของมณฑลเจ้อเจียงภายใต้นโยบาย Common Prosperity ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น นับเป็นอีกโมเดลการพัฒนารูปแบบหนึ่งที่ไทยสามารถเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาพื้นที่ชนบทของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่กระจายเข้าสู่พื้นที่ภาคเกษตรกรรม หรือการขยายฐานอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่พื้นที่ชนบท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนสร้างโอกาสงานเพิ่มเติมจากอาชีพเกษตรกรรม และขจัดความยากจนอย่างยั่งยืน

1189787
นโยบาย Common Prosperity

อนึ่ง รายงานการพัฒนาด้านดิจิทัลของจีน (ปี 2564) ของ Cyberspace Administration of China ระบุว่าเจ้อเจียงมีมาตรฐานการพัฒนาด้านดิจิทัลในภาพรวมสูงเป็นอันดับที่ 1 ของจีน โดยปี 2564 เจ้อเจียงมีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล (3.57 ล้านล้านหยวน) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.6 ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกพื้นที่ของจีน จึงนับเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจซึ่งไทยสามารถขยายความร่วมมือในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับไทยได้อย่างต่อเนื่อง

ที่มา-ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้