กระทรวงเกษตรฯ ร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อเตรียมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 44 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะ SOM-AMAF Leader ของไทย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อเตรียมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (PREPSOM-44th AMAF) ครั้งที่ 44 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2565 โดยมี ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรลาหารแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยเข้าร่วม ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ (Zoom Meeting)
สำหรับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อเตรียมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (PREPSOM-44th AMAF) ครั้งที่ 44 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง วันที่ 25 ตุลาคม 2565 นั้น ประกอบด้วย (1) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อเตรียมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 44 (PREPSOM-44th AMAF) (2) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อเตรียมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 22 (PREPSOM 22nd AMAF Plus Three) และ (3) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อเตรียมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนอินเดียด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 7 (PERPSOM-7th AIMMAF)
โดยการประชุมฯ ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ของประเทศสมาชิก รวมถึงความก้าวหน้าความร่วมมือของคู่เจรจาและองค์การระหว่างประเทศ ก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 44 และการประชุมที่เกี่ยวข้องในวันที่ 26 ตุลาคม 2565
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ครั้งที่ 43ปีที่แล้ว (ปี 2564) รัฐมนตรีเกษตรอาเซียน 10 ประเทศ ได้แลกเปลี่ยนนโยบายและแนวทางในการฟื้นฟูด้านการเกษตรและป่าไม้ภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยได้กล่าวเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นไปตามกรอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมด้านการเกษตร โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เน้นสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงานคืนถิ่น ให้ความสำคัญการพัฒนาแบบArea-based Approach ด้วยการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภายในกระทรวง และใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน
ทั้งนี้ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบเอกสารทั้งหมด 27 ฉบับ และรับทราบเอกสารทั้งหมด 6 ฉบับ ในสาขาต่าง ๆ ด้านพืชประมง ปศุสัตว์ ด้านมาตรฐาน ด้านป่าไม้ ฯลฯ รวมถึงรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา องค์การระหว่างประเทศ และคู่ภาคีอื่น ๆ และรับทราบการเห็นชอบใน ASEAN Guidelines on Promoting the Utilisation of Digital Technologies for ASEAN Food and Agricultural Sector ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการดำเนินการการกำหนดรูปแบบการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของการเกษตรในภูมิภาคพลิกโฉมภาคการเกษตรในภูมิภาคโดยใช้ดิจิทัล
รวมทั้งเห็นชอบข้อเสนอแนะของนโยบายประมงอาเซียน ASEAN General Fisheries Policy (AGFP) Feasibility Study เพื่อมุ่งเน้นความพยายามในการดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบตามกรอบนโยบายการประมงระดับภูมิภาค โดยรวมถึงประเด็นด้านขยะทะเล (marine debris) โดยประเทศไทยได้เน้นย้ำเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนงานและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านประมงของอาเซียน การเสริมสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมายหรือการทำประมงไอยูยู โดยประเทศไทยมุ่งพัฒนาความร่วมมือผ่านการสร้างเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการทำประมง ไอยูยู หรือ AN-IUU ซึ่งจะเป็นช่องทางในการแบ่งปันข้อมูลที่จำเป็นกับประเทศสมาชิกอาเซียน
นอกจากนี้ ประเทศไทยสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศเสริมสร้างและพัฒนากิจกรรมที่เป็นรูปธรรมเพื่อควบคุมป้องกันโรคระบาดสัตว์ โดยใช้ภูมิปัญญาและประสบการณ์ร่วมกันของภูมิภาคในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคและโรคระบาด และสร้างความมั่นใจว่าการค้าสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยได้รับการป้องกันจากการแพร่ระบาดของโรคจากสัตว์สู่คนในอนาคตด้วย