“อมก๋อยโมเดล” เครื่องมือสำคัญ”พาณิชย์” ดันราคาสินค้าเกษตร

หนึ่งใน เครื่องมือสำคัญ ที่ กระทรวงพาณิชย์ นำมาใช้ในการดูแล สินค้าเกษตร ที่พูดได้ว่ามา “ถูกที่ ถูกทาง” นโยบายหนึ่งในยุคที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้ามากำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ ก็คือ “อมก๋อย โมเดล”

“อมก๋อย โมเดล” ที่ว่า เกิดขึ้นในช่วงที่นายจุรินทร์ ลงพื้นที่ไปพบปะกับเกษตรกร “กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง” ที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เมื่อช่วงเดือน ส.ค.2563

o 1gavst1f184ihlu1n354eireuo
อมก๋อย โมเดล

การเดินทางไปครั้งนั้น นายจุรินทร์ ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกสินค้าเกษตรในพื้นที่ อ.อมก๋อย ด้วยการนำผู้ซื้อไปเซ็น MOU กับเกษตรกร ในการรับซื้อ “มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ฟักทอง พริก และบุก”เพื่อเป็นการสร้าง “หลักประกัน” ให้กับเกษตรกรว่า “ผลผลิต” ที่ออกมา มี “ตลาดรองรับ” แน่นอน และยังกำหนด “ราคาที่รับซื้อ” ไว้ชัดเจน ทำให้เกษตรกรรับรู้ว่าผลผลิตที่ผลิตออกมาจะ “ขายได้” ในราคาเท่าไร จึงเป็นที่มา ของ “อมก๋อย โมเดล”

หากนับตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ ก็เป็นเวลากว่า 2 ปี แล้ว ที่ “อมก๋อย โมเดล” ได้ถูกใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการดูแลพืชผลทางการเกษตร

หลังจากที่อมก๋อย โมเดล ได้ อุบัติขึ้น ก็เลยลองตรวจสอบดูว่าได้เข้าไปช่วยเหลือ พืชเกษตรอะไรไปบ้างแล้ว

ปรากฏว่า มีดังนี้

ปี 2564 กรมการค้าภายใน ในฐานะที่รับผิดชอบการดำเนินโครงการอมก๋อย โมเดล ได้เข้าไปช่วยเหลือ “หอมหัวใหญ่” และ “มังคุด” ที่มีปัญหาด้านราคาในบางช่วง จนทำให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น และ “ไม่มีปัญหา” ในที่สุด

ต่อมาปี 2565 มีอีกหลายสินค้าที่ได้เข้าไปช่วยเหลือ

เริ่มจากช่วงต้นปี “ผักกาดขาวปลี” ในพื้นที่เพาะปลูกภาคเหนือ ได้แก่ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ พิษณุโลก มีปัญหาด้านราคา จึงได้เข้าไปช่วยเหลือด้วยการประสานผู้ซื้อเข้าไปรับซื้อ

ต่อมาจัด “พาณิชย์เดินหน้าอมก๋อยโมเดล @ปาย สินค้ากระเทียม” โดยประสานผู้ซื้อรายใหญ่ทำสัญญารับซื้อกระเทียมจากเกษตรกร ทั้งเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ปริมาณ 5,520 ตันกระเทียมคละสด ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นทันที

ตามต่อด้วย “พาณิชย์เดินหน้าอมก๋อยโมเดล@ พังงา สินค้ามังคุดทิพย์พังงา” โดยดึงผู้ซื้อไปทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับเกษตรกร จำนวน 1,050 ตัน ในราคานำตลาด

นอกจากนี้ ยังมีการประสานผู้ประกอบการ ห้าง และโรงงาน มาช่วยซื้อ “ลำไย” ของ จ.ลำพูน และ จ.เชียงใหม่ เป้าหมาย 5 หมื่นตัน เพื่อกระจายออกนอกแหล่งผลิต และผลักดันส่งออก

จากนั้น ได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร “ผู้ปลูกลองกอง” ในภาคเหนือ นำห้างและผู้ประกอบการ 9 ราย ไปเซ็นสัญญาซื้อลองกองกับเกษตรกร 15 กลุ่ม จาก จ.สุโขทัย และ จ.อุตรดิตถ์ ปริมาณ 7,500 ตัน จากผลผลิตภาคเหนือทั้งหมด 21,000 ตัน คิดเป็น 35% ของผลผลิตทั้งปี ทำให้ “ราคา” ปรับตัวสูงขึ้นทันที

ล่าสุด นายจุรินทร์ ได้เปิดกิจกรรม “พาณิชย์เดินหน้าอมก๋อยโมเดล@เชียงใหม่ สินค้าข้าวเหนียว” ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

โดยนำผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ 5 ราย ได้แก่ 1.หจก.ร่วมทุนรุ่งเรือง จ.ชัยนาท 2.หจก.ป.รุ่งเรืองธัญญา จ.สิงห์บุรี 3.บจก.ทีบีเอสไรซ์มิลล์ จ.พิจิตร 4.บจก. ธนสรรไรซ์ จ.ชัยนาท และ 5.บจก.รุ่งเรืองพืชผล 369 จ.เชียงใหม่ ไปทำสัญญาซื้อขาย “ข้าวเหนียว” กับเกษตรกรใน 5 อำเภอของ จ.เชียงใหม่ ปริมาณ 35,000 ตัน คิดเป็น 35% ของผลผลิตทั้งหมด ในราคาตันละ 12,000 บาท เพื่อสร้าง “หลักประกัน” ให้กับเกษตรกรว่ามี “ที่ขาย” และขายได้ “ราคาดี” แน่นอน

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เล่าให้ฟังว่า อมก๋อย โมเดล เป็นนโยบายที่นายจุรินทร์ได้นำมาใช้ในการ ช่วยเหลือ และดูแลผลผลิตทางการเกษตร ให้มีที่จำหน่ายและเกษตรกรสามารถรับรู้ราคาได้ล่วงหน้า

เป็นโครงการที่ “วิน-วิน” ทั้งฝ่ายผู้ซื้อ และฝ่ายเกษตรกร

โดยผู้ซื้อ จะมีผลผลิตทางการเกษตรที่แน่นอน ส่วนเกษตรกร จะมีที่ขายและขายได้ในราคาที่แน่นอน

เห็นได้ชัดเจนว่า อมก๋อย โมเดล สามารถช่วย “ฉุดราคา” สินค้าเกษตรได้จริง

เพราะ “ผู้ซื้อ” ที่กรมการค้าภายในพาไปรับซื้อ ล้วนเป็น “รายใหญ่” และมี “เงินถุง เงินถัง”

หากถามว่า ทำไมกรมการค้าภายในไม่ใช้อมก๋อย โมเดล นำผู้ซื้อไปรับซื้อทั้งหมด เท่าที่ทราบเหตุผล เพราะไม่ต้องการทำลายกลไกตลาด หรือการดำเนินธุรกิจในพื้นที่

โดยผลผลิตที่เหลือจากการทำสัญญาภายใต้อมก๋อย โมเดล ก็ปล่อยให้มีการซื้อขายตามวิถีทางปกติ เพื่อให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ทำมาค้าขายได้

พูดได้ว่า “อมก๋อย โมเดล” มีไว้เพื่อเป็น “เครื่องมือ” ในการดูแลเกษตรกร

ถ้ายังมีการ “ซื้อขายปกติ” ราคาเป็นปกติ ก็ปล่อยให้ “กลไกตลาด” ทำงานไป

แต่ถ้าเมื่อใด เกิดภาวะไม่ปกติ “ราคาตกต่ำ” หรือเกษตรกร “ถูกกดราคา” ก็พร้อมที่จะใช้ “อมก๋อย โมเดล” เข้าไปช่วยเหลือในทันที

นี่แหละ คือ ความสำคัญของ “อมก๋อย โมเดล”

ที่มา บทความจากเว็บกระทรวงพาณิชย์