พาณิชย์ดึงเชฟมิชลินลุยอีสานคัดวัตถุดิบ GI ประเภทอาหารและผลผลิตทางการเกษตร ดันสู่ตลาดโลก

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ร่วมมือกับมิชลินไกด์ประเทศไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พาเชฟระดับมิชลิน นำโดยเชฟชาลี กาเดอร์ จากร้าน 100 Mahaseth (100 มหาเศรษฐ์) ร้านอาหารอีสานที่ได้รางวัลบิบ กูร์มองด์ จากมิชลินไกด์ประเทศไทย และเชฟเดวิด ฮาร์ตวิก จากร้าน IGNIV Bangkok ที่ได้รับรางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประจำปี 2565 ลงพื้นที่คัดสรรวัตถุดิบที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากแหล่งผลิตในภาคอีสาน 4 สินค้า ใน 3 จังหวัด

63636997f2c82
ดันสินค้า GI ผลผลิตทางการเกษตร สู่ตลาดโลก

ได้แก่ ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ หอมแดงศรีสะเกษ กระเทียมศรีสะเกษ และเนื้อโคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร เพื่อนำมารังสรรค์เป็นเมนูอาหารฟิวชั่นที่ผสมผสานความเป็นไทยและสากล เพื่อช่วยยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นไทยสู่สากล และสร้างแรงบันดาลใจในการนำวัตถุดิบ GI มาสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ ให้นักท่องเที่ยวและผู้บริโภคได้ลิ้มลองรสชาติอาหารไทยที่โดดเด่นทั้งคุณภาพและมีเอกลักษณ์ของเรื่องราว โดยผู้ที่สนใจสามารถรับชมคลิปวิดีโอที่บอกเล่าเรื่องราวดังกล่าวได้ทางช่อง Youtube : MICHELIN Guide Asia

ทั้งนี้ สินค้า GI ไทย 136 รายการ จากทั้งหมด 171 รายการ เป็นสินค้าประเภทอาหารและผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ เป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนในแต่ละท้องถิ่น เมื่อนำมาผนวกกับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จะช่วยในการเผยแพร่วัฒนธรรมอีสาน ดึงดูดนักท่องเที่ยว และต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า สินค้า GI ประเภทอาหารและผลผลิตทางการเกษตรดังกล่าว ล้วนเป็นสินค้าคุณภาพที่ขึ้นชื่อของจังหวัด มีกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ก่อนส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากนำสินค้า GI มาต่อยอดเชิงพาณิชย์ในมิติอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย จะยิ่งช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกรมฯ และหน่วยงานพันธมิตรจะเดินหน้าสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการ GI ไทยทั่วประเทศเพื่อผลักดันสินค้าชุมชนสู่ตลาดโลกอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

สำหรับข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ มีปริมาณการผลิต 437,468 ตันต่อปี มูลค่า 6,343 ล้านบาท หอมแดงศรีสะเกษ มีปริมาณการผลิต 63,000 ตันต่อปี มูลค่า 2,292 ล้านบาท กระเทียมศรีสะเกษ มีปริมาณการผลิต 2,180 ตันต่อปี มูลค่า 218 ล้านบาท และเนื้อโคขุนโพนยางคำ มีปริมาณการผลิต 123 ตันต่อปี มูลค่า 30 ล้านบาท รวมสินค้าสินค้า GI ทั้ง 4 รายการ สร้างรายได้รวมกว่า 8,880 ล้านบาท

สำหรับ ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว ที่แปรรูปมาจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 ปลูกในฤดูนาปีบนพื้นที่ที่มีแร่ธาตุจากดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ ทําให้เมล็ดข้าวเรียวยาว เลื่อมมัน มีท้องไข่น้อย เมื่อหุงสุกจะเหนียวนุ่มไม่แข็งกระด้าง ครอบคลุมพื้นที่ 7 อําเภอ ของจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ อําเภอเมืองบุรีรัมย์ อําเภอละหานทราย อําเภอเฉลิมพระเกียรติ อําเภอห้วยราช อําเภอประโคนชัย อําเภอปะคํา และอําเภอนางรอง

ส่วน หอมแดงศรีสะเกษ มีเปลือกแห้งมัน สีแดงเข้มปนม่วง หัวมีลักษณะกลม มีกลิ่นฉุน พื้นที่ในการปลูกหอมแดงของจังหวัดศรีสะเกษเป็นดินมูลทรายที่เป็นดินตะกอนลุ่มน้ำโบราณลำน้ำมูลและลำน้ำสาขามูลที่ทับถมมานาน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์สูง ประกอบกับเมื่อผสมกับดินโพนหรือดินจอมปลวกตามภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้าน จึงทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ กลิ่นหอมอร่อยเป็นเอกลักษณ์ 

สำหรับ กระเทียมศรีสะเกษ มีลักษณะเด่นที่สำคัญ คือ เปลือกนอกสีขาวแกมม่วง เปลือกบาง หัวแน่น กลิ่นฉุน รสเผ็ดร้อน สามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่ฝ่อ กระเทียมศรีสะเกษปลูกในดินมูลทรายเช่นเดียวกัน ผลผลิตจึงมีคุณภาพดี และสามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกว่ากระเทียมจากแหล่งอื่น

ส่วน โคขุนโพนยางคำ เป็นเนื้อโคคุณภาพสูงจากหมู่บ้านโพนยางคำ ตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โคเป็นโคเนื้อลูกผสมไทย-ฝรั่งเศส โดยมีการตกลงจัดตั้งเป็นสหกรณ์โพนยางคำขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ