คปภ.ขานรับมติ ครม.เร่งเดินสายให้ความรู้เกษตรกรรับมือภัยธรรมชาติ หลังเปิดรับประกันภัย ข้าวนาปี-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต2565
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 เห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากปี 2564 เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี ได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดเป้าหมายรวม Tier 1 และ Tier 2 จำนวน29 ล้านไร่ โดยภาครัฐให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย จำนวนเงินทั้งสิ้น 1,925,065,000 บาท
นอกจากนี้ ครม.ได้เห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีพื้นที่เป้าหมายรวม Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 2.12 ล้านไร่ โดยภาครัฐให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย จำนวนเงินทั้งสิ้น 224,442,600 บาท
โดยมติ ครม. ได้มอบหมายให้ สำนักงาน คปภ.ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีและกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้เป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของการรับประกันภัยของโครงการฯ ปีการผลิต 2565 รวมทั้งอนุมัติกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยให้แล้วเสร็จและสามารถเริ่มรับประกันภัยในปีการผลิต 2565 ได้ทันทีภายหลังคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ ปีการผลิต 2565 และดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนประชาสัมพันธ์โครงการฯ ปีการผลิต 2565 ในภาพรวมและเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำนักงาน คปภ.ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้เตรียมความพร้อมและเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 ตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว เพื่อให้ทันฤดูกาลเพาะปลูก ตนในฐานะนายทะเบียนได้ลงนามให้ความเห็นชอบแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 3 ฉบับ ดังนี้
1) กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 เพื่อกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
2) กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์)
3) กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ส่วนเพิ่ม โดยกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีทั้ง 3 ฉบับ ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัย 2 หมวด ดังนี้
หมวดที่ 1 ภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยจากช้างป่า โดยแยกความคุ้มครองเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ความคุ้มครองพื้นฐาน อยู่ที่ 1,190 บาทต่อไร่ และส่วนที่ 2 ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม อยู่ที่ 240 บาทต่อไร่
หมวดที่ 2 ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด โดยแยกความคุ้มครองเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ความคุ้มครองพื้นฐาน อยู่ที่ 595 บาทต่อไร่ ส่วนที่ 2 ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม อยู่ที่ 120 บาทต่อไร่ โดยภัยดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ดังนั้นเกษตรกรที่ทำประกันภัยโดยเลือกซื้อความคุ้มครองทั้งส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ในคราวเดียวกันของหมวดที่1 จะได้รับ ความคุ้มครองรวมอยู่ที่ 1,430 บาทต่อไร่ และหมวดที่ 2 จะได้รับความคุ้มครองรวมอยู่ที่ 715 บาทต่อไร่ โดยมีค่าเบี้ยประกันภัยและสัดส่วนการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย ดังนี้
สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. จะได้รับการอุดหนุนเบี้ยประกันภัยทั้งหมดโดยรัฐบาลและธ.ก.ส. ส่วนเกษตรกรทั่วไปและเกษตรกรลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่ต้องการซื้อประกันภัยเพิ่ม จะจ่ายเบี้ยประกันภัยตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย โดยจะได้รับการอุดหนุนเบี้ยประกันภัยบางส่วนจากรัฐบาล
ในส่วนที่ 1 ความคุ้มครองพื้นฐาน ถ้าเป็นพื้นที่สีเขียวมีความเสี่ยงภัยต่ำ เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยส่วนที่เหลือ39.60 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเหลืองมีความเสี่ยงภัยปานกลาง เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยส่วนที่เหลือ139.60 บาทต่อไร่ และพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงภัยสูง เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยส่วนที่เหลือ 158.60 บาทต่อไร่
สำหรับเบี้ยประกันภัยในส่วนที่ 2 ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยเองทั้งหมดตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย ถ้าเป็นพื้นที่สีเขียวมีความเสี่ยงภัยต่ำ จ่ายเบี้ยประกันภัย 27 บาทต่อไร่พื้นที่สีเหลืองมีความเสี่ยงภัยปานกลาง จ่ายเบี้ยประกันภัย 60 บาทต่อไร่ และพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงภัยสูง จ่ายเบี้ยประกันภัย 110 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)
โดยกำหนดวันเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ โดยภาคเหนือ กลาง อีสาน สิ้นสุดการทำประกันภัยถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ยกเว้น จังหวัดตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สิ้นสุดการทำประกันภัยวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และภาคใต้สิ้นสุดการทำประกันภัยวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งเกษตรกรสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยได้ที่ธ.ก.ส. ทุกสาขา หรือ (ซื้อได้ด้วยแอปพลิเคชัน BAAC INSURE)
พร้อมกันนี้ในฐานะนายทะเบียน ยังได้ให้ความเห็นชอบแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 3 ฉบับ ดังนี้
1) กรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 เพื่อกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
2) กรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์)
3) กรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ส่วนเพิ่ม โดยกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้ง 3 ฉบับ ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัย 2 หมวด ดังนี้
หมวดที่ 1 ภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยจากช้างป่า โดยแยกความคุ้มครองเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ความคุ้มครองพื้นฐาน อยู่ที่ 1,500 บาทต่อไร่ และส่วนที่ 2 ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม อยู่ที่ 240 บาทต่อไร่
หมวดที่ 2 ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด โดยแยกความคุ้มครองเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ความคุ้มครองพื้นฐานอยู่ที่ 750 บาทต่อไร่ ส่วนที่ 2 ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม อยู่ที่ 120 บาทต่อไร่ โดยภัยดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ดังนั้นเกษตรกรที่ทำประกันภัยโดยเลือกซื้อความคุ้มครองทั้งส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ในคราวเดียวกันของหมวดที่1 จะได้รับ ความคุ้มครองรวมอยู่ที่ 1,740 บาทต่อไร่ และหมวดที่ 2 จะได้รับความคุ้มครองรวมอยู่ที่ 870 บาทต่อไร่ โดยมีค่าเบี้ยประกันภัยและสัดส่วนการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย ดังนี้
สำหรับโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 ได้กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์)ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 (Tier 1) อัตราเบี้ยประกันภัยพื้นฐาน สำหรับลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของ ธ.ก.ส. จะได้รับการอุดหนุนเบี้ยประกันภัยทั้งหมดโดยรัฐบาลและ ธ.ก.ส. อุดหนุนเบี้ยประกันภัย สำหรับเกษตรกรทั่วไป หรือลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่ต้องการซื้อประกันภัยเพิ่มจะจ่ายตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย โดยจะได้รับการอุดหนุนเบี้ยประกันภัยบางส่วนจากรัฐบาล
ในส่วนที่ 1 ความคุ้มครองพื้นฐานถ้าเป็นพื้นที่สีเขียวมีความเสี่ยงภัยต่ำ เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยส่วนที่เหลือ 60 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเหลืองมีความเสี่ยงภัยปานกลาง เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยส่วนที่เหลือ 260 บาทต่อไร่ และพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงภัยสูง เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยส่วนที่เหลืออีก 460 บาทต่อไร่
สำหรับเบี้ยประกันภัยในส่วนที่ 2 ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยเองทั้งหมดตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย ถ้าเป็นพื้นที่สีเขียวมีความเสี่ยงภัยต่ำ จ่ายเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเหลืองมีความเสี่ยงภัยปานกลาง จ่ายเบี้ยประกันภัย 100 บาทต่อไร่ และพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงภัยสูง จ่ายเบี้ยประกันภัย 110 บาทต่อไร่ (เบี้ยประกันภัยความคุ้มครองส่วนเพิ่มยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) โดยกำหนดแบ่งจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็น 2 รอบ ตามฤดูเพาะปลูกโดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน เริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2566 ซึ่งเกษตรกรสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา หรือ (ซื้อได้ด้วยแอปพลิเคชัน BAAC INSURE)
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า สำนักงาน คปภ.มีความพร้อมและสามารถขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 ตามนโยบายของรัฐบาลทันที โดยได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการปกครอง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมประชาสัมพันธ์ กรมการข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ในการดำเนินการโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาอย่างต่อเนื่อง
“สำนักงาน คปภ. ตระหนักถึงความสำคัญของการนำระบบประกันภัยไปช่วยลดความเลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของประชาชน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งอาชีพเกษตรชาวนาในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากต้องพึ่งพิงปัจจัยทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก จึงมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เช่นน้ำท่วม ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ และแมลงศัตรูพืช ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกษตรกรชาวนาส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้ค่อนข้างต่ำ ไม่คงที่แน่นอน และบางรายต้องสูญเสียที่ดินทำกิน จึงจำเป็นต้องมีระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรชาวนาและเกษตรกรไทยให้อย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย