ชาวสวนภาคตะวันออก นัดรวมตัวจี้รัฐแก้ปัญหาทุเรียนสวมสิทธิ์ GAP

มาแน่ 23 พ.ย.65 ชาวสวนภาคตะวันออกตบเท้าพบผู้ว่าราชการ จ.จันทบุรี เรียกร้องเตรียมหาทางแก้ปัญหาทุเรียน-สวมสิทธิ์ GAP พร้อมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี

วันนี้(18/11/65) นาย สัญชัย โกสัลล์วัฒนา อดีตนายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย เปิดเผยว่า วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.00 น. จะมีกลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายผู้ปลูกทุเรียน ,กลุ่มชาวสวนผลไม้ภาคตะวันออกทั้งจันทบุรี ตราด ระยอง และสระแก้ว รวมถึง”กลุ่มทำสวนเอาเงิน ไม่ได้เอาเงินทำสวน” ราวๆ1,000 คน นัดไปรวมตัวที่ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี เพื่อยื่นขอเรียกร้องให้หาทางแก้ไขปัญหา คือ

-ขอให้ “นาย ชลธี นุ่มหนู ผอ.สวพ.6” ปฏิบัติงานที่ สวพ.6 เช่นเดิม

-ชาวภาคตะวันออกไม่เอาทุเรียนอ่อน และไม่เอาทุเรียนสวมสิทธิ์

-ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเปิดเว็ปไซด์ เพื่อตรวจสอบสิทธิ์ GAP ของตัวเองเพราะขณะนี้มีกลุ่มบุคคลการนำ GAP ของชาวสวนไปสวมสิทธิ์

นาย สัญชัยฯ บอกว่า วันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นการแสดงพลังของชาวสวนภาคตะวันออก เพื่อส่งสัญญาณไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมแก้ปัญหาทุเรียนปี 66 เพราะผลผลิตจะมีออกมามากความเข้มข้นในการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนส่งออก จะต้องมีมาตรฐานเช่นเดียวกับที่ผ่านมา เพราะนายซลธี เป็นผู้ที่ตรวจจับทุเรียนอ่อน-ทุเรียนสวมสิทธิ์ ถูกย้าย ฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีมาตรการควบคุมเช่นเดียวกับที่ผ่านมา

“ประเด็นเรื่องของทุเรียนอ่อน-ทุเรียนสวมสิทธิ์นี้ ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นมากในภาคตะวันออก และเมื่อเกิดทั้ง 2 เรื่องชาวสวนและคนเมืองจันท์ได้รับผลกระทบเต็มๆ เนื่องจากเป็นที่ตั้งแหล่งส่งออกทุเรียน จึงถูกเหมารวมทั้งหมด”

และระบุว่า “ปีที่ผ่านมาการควบคุมคุณภาพทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ทำได้ดีมาก จนปลายทางที่รับซื้อออกปากชมเพราะไม่เคยได้ทานทุเรียนอร่อยเช่นนี้มาก่อน นั่นหมายถึงกระบวนการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของภาครัฐดีมาก ปีนี้จึงต้องรักษามาตรฐานไม่ให้ต่ำกว่าเดิม”

ส่วนเรื่องทุเรียนสวมสิทธิ์ทุเรียน นาย สัญชัย ระบุว่า ชาวสวนภาคตะวันออก ประกาศชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะที่ผ่านมาเกิดขึ้นทุกปี ทำให้ผลไม้ภาคตะวันออกเสียหาย

นายสัญชัย ยังบอกด้วยว่า เรื่องสำคัญที่จะมีการยื่นในวันดังกล่าวด้วยคือ ให้มีการเปิดเว็ปไชด์ ตรวจสอบสิทธิ์ใบ GAP ของตัวเองแบบสาธารณะ เพราะที่ผ่านมาและปัจจุบัน มีการนำใบ GAP ของชาวสวนหลายคน ไปสวมสิทธิ์ส่งออกทุเรียนจากพื้นที่อื่น โดยเฉพาะในประเทศที่ปลูกทุเรียนอยู่รอบไทยซึ่งใบ GAP ถูกนำไปขายสิทธิ์ในต่างประเทศใบละ 100,000 – 500,000บาท เรื่องนี้คนในวงการทุเรียนรู้กันหมด เพราะมีบุคคลบางกลุ่มดำเนินการและได้ประโยชน์ หากมีการเผยแพร่ให้สามารถตรวจสอบได้ชาวสวนเจ้าของใบ GAP จะได้ทราบว่า สิทธิ์ของตัวเองมีใครนำไปใช้บ้าง

นายสัญชัย ยกตัวอย่าง บางประเทศใกล้ไทย เพิ่งจะส่งออกทุเรียนได้ และปลูกกันแค่ครอบครัวละไม่เกิน5 ไร่ แต่ทำไมส่งออกเยอะ 

“ก็เพราะว่าGAP ที่บ้านเค้าไม่พอ จึงมีการนำ GAP ชาวสวนของไทยไปสวมสิทธิ์และอีกเรื่อง คือ ภาครัฐต้องเตรียมการแก้ปัญหาระบบขนส่ง หรือโลจิสติกแต่เนิ่นๆ เนื่องจากปี 2565 การส่งออกทุเรียนไม่คล่องตัว เนื่องจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ,ด่านปิด และอื่นๆอีกหลายปัจจัย”

พร้อมย้ำว่าในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้จะมีการยื่นหนังสือ 2 ฉบับ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วย