สำรวจสัตว์ทะเลหายาก ใกล้สูญพันธุ์บริเวณจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี พบ 3 ชนิด โลมาอิรวดี โลมาหัวบาตรหลังเรียบ วาฬบรูด้า

กรมทะเลและชายฝั่ง สำรวจสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์บริเวณจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี พบสัตว์ทะเลหายาก 3 ชนิด

เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก (ศวบต.) สำรวจสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์บริเวณจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี พบสัตว์ทะเลหายาก 3 ชนิด คือ

315979466 507922481369393 5149269055003158928 n
โลมาอิรวดี

1. โลมาอิรวดี (Irrawaddy dolphin: Orcaella brevirostris) พบบริเวณปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร และบริเวณชายฝั่งทะเลอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

315869134 507922474702727 2844452126010272923 n
โลมาหัวบาตรหลังเรียบ

2. โลมาหัวบาตรหลังเรียบ (Finless porpoise: Neophocaena phocaenoides) พบบริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดสมุทรสาคร

315891132 507922504702724 2567728034901752157 n
วาฬบรูด้า

3. วาฬบรูด้า (Bryde’s whale: Balaenoptera edeni) จำนวน 12 ตัว พบบริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดสมุทรสาคร จากการตรวจสอบอัตลักษณ์ (Photo ID) ทราบชื่อ 6 ตัว ดังนี้

– เจ้ามีทรัพย์

– เจ้าขวัญข้าว

– แม่สาครกับเจ้าสาริน

– แม่วันดีกับเจ้าวันรุ่ง

– ไม่ทราบชื่อจำนวน 6 ตัว

นายสัตวแพทย์ได้ตรวจสุขภาพวาฬบรูด้า จำนวน 8 ตัว ซึ่งทุกตัวมีอัตราการหายใจและคุณภาพการหายใจปกติ มีความสมบูรณ์ร่างกาย (Body Condition Score) อยู่ในเกณฑ์พอใช้-ดี พบรอยโรคผิวหนัง Tattoo Skin Disease Like จำนวน 7 ตัว และพบวาฬบรูด้าชื่อเจ้ามีทรัพย์มีแผลถลอกที่ข้างลำตัวด้านขวา ทั้งนี้ นายสัตวแพทย์จะติดตามสุขภาพของวาฬบรูด้าในอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลมาอิรวดี เป็นโลมาชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์โลมามหาสมุทร (Delphinidae) พบประชากรที่กระจายอย่างกว้างขวางในบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล และในบริเวณปากน้ำและแม่น้ำบางส่วนของอ่าวเบงกอลและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรูปร่างคล้ายโลมาครีบทู่ออสเตรเลีย

แต่มีลักษณะเด่นคือ หัวที่มนกลมคล้ายบาตรพระ ลำตัวสีเทาเข้ม แต่บางตัวอาจมีสีอ่อนกว่า ตามีขนาดเล็ก ปากอยู่ด้านล่าง ครีบข้างลำตัวแผ่กว้างเป็นรูปสามเหลี่ยม ครีบบนมีขนาดเล็กมาก มีรูปทรงแบนและบางคล้ายเคียว มีขนาดประมาณ 180–275 เซนติเมตร น้ำหนัก 3.21 กิโลกรัม

โลมาอิรวดีบางกลุ่มอาจเข้ามาอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ด้วย เช่น แม่น้ำโขง ทะเลสาบเขมร มีรายงานว่าพบอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา และเคยมีผู้จับได้ที่คลองรังสิต ในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร

โลมาอิรวดี ได้รับการค้นพบครั้งแรกที่แม่น้ำอิรวดีในประเทศพม่า จึงเป็นที่มาของชื่อ ปัจจุบันถึงแม้ว่าสามารถพบโลมาในเขตแม่น้ำและทะเลในเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ แต่บริเวณที่มีประชากรมากที่สุดอยู่ในทะเลสาบจิลิกา รัฐโอฑิศา ประเทศอินเดีย และทะเลสาบสงขลาในภาคใต้ของประเทศไทย โลมาอิรวดีตัวสุดท้ายที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของประเทศลาวเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 หลังจากติดอวนจับปลาของชาวประมงในพื้นที่ เท่ากับเป็นการสูญพันธุ์จากประเทศลาวอย่างเป็นทางการ

โลมาอิรวดี พบได้บริเวณที่มีน้ำขุ่น สามารถอยู่ใต้ผิวน้ำได้นานถึง 70–150 วินาที แล้วจะโผล่ขึ้นมาหายใจสลับกัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ตั้งท้องนาน 9 เดือน ลูกที่เกิดมามีขนาดร้อยละ 40 ของตัวโตเต็มวัย อาหารได้แก่ กุ้ง ปลา และหอยที่อยู่บนผิวน้ำและใต้โคลนตม สถานภาพจัดอยู่ในบัญชีประเภทที่ 1 ของไซเตส (Appendix I) คือ ห้ามซื้อขาย ยกเว้นมีไว้ในการศึกษาและขยายพันธุ์

ส่วน โลมาหัวบาตรหลังเรียบ หรือโลมาหัวบาตรไร้ครีบหลัง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กีบคู่ (Artiodactyla) แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดย่อย เป็นสัตว์ที่สืบทอดเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบันแล้วประมาณ 20 ล้านปี

มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับโลมาอิรวดี หรือ โลมาหัวบาตรมีครีบหลัง (Orcaella brevirostris) คือ มีส่วนหัวกลมหลิมเหมือนบาตรพระไม่มีจะงอยปาก แต่ส่วนหลังเรียบไม่มีครีบหลัง ครีบข้างค่อนข้างใหญ่ปลายแหลม และลักษณะฟันในปากจะเป็นตุ่ม ไม่แหลมคม มีขนาดโตเต็มที่ยาว 1.9 เมตร ลูกแรกเกิดยาว 70–80 เซนติเมตร

ในน่านน้ำไทยพบมากที่สุดในฝั่งอ่าวไทย คือ ทะเลแถบจังหวัดตราด และจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 เหมือนกับวาฬและโลมาชนิดอื่น ๆ

ส่วนวาฬบรูด้า ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า พื้นที่อ่าวไทยพบว่าเป็นแหล่งอาศัยและศึกษาเกี่ยวกับวาฬบรูดาแหล่งใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย โดยถือว่าเป็นสัตว์ประจำถิ่นอ่าวไทยไปแล้ว เมื่อพบจำนวนประชากร 2-20 ตัว ขนาดที่แตกต่างกันในแต่ละวัน ซึ่งประเมินว่ามีจำนวนประชากรราว 35 ตัว และทำการจำแนกอัตลักษณ์ได้แล้วกว่า 30 ตัว พร้อมกับมีการตั้งชื่อให้ด้วย โดยเมื่อสำรวจพบวาฬ จะมีการจำแนกอัตลักษณ์ของวาฬแต่ละตัวด้วยวิธีการถ่ายภาพ (Photo-ID) ศึกษาตำหนิบริเวณครีบหลังเป็นจุดหลัก และใช้ตำหนิรอง เช่น ตำหนิตามลำตัว หัว ปาก ซี่กรอง และหาง มาประกอบ

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555 พบฝูงวาฬบรูด้า ในบริเวณที่ห่างจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพียงแค่ 5 กิโลเมตรเท่านั้น และมีการสำรวจพบมากขึ้น โดยอาหารสำคัญของวาฬฝูงนี้ก็คือ ปลากะตัก และพบด้วยว่าวาฬบรูด้าที่อาศัยอยู่บริเวณอ่าวไทยนี้มีขนาดเล็กกว่าวาฬบรูด้าที่พบที่อื่นทั่วโลก จึงเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ชาวต่างชาติมาก และสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นวาฬชนิดใหม่ ที่กำลังจะมีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้เป็นชนิดใหม่ด้วย

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 พบฝูงวาฬบรูด้าประมาณ 40 ตัว อยู่ใกล้พื้นที่กรุงเทพมหานครมากที่สุด โดยพบหาอาหารกินที่ทะเลบางขุนเทียน และจากการเฝ้าศึกษาพบว่าเป็นสัตว์ประจำถิ่นของอ่าวไทยด้วย