เฮ แม่ศรีสุดา เต่ากระขึ้นวางไข่เป็นรังที่ 4 ของปี ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม ประจวบฯ 170 ฟอง

วันที่20 พฤศจิกายน 2565 นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 19.30 น. ของวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยามร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเล สยาม เดินลาดตระเวนบนพื้นที่เกาะทะลุ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบแม่เต่ากระ “แม่ศรีสุดา” เป็นแม่เต่าจากธรรมชาติ หมายเลขไมโครชิพ 933.076400530527 เคยขึ้นวางไข่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2563 โดยในครั้งนี้เจ้าหน้าที่พบแม่ศรีสุดา ขึ้นวางไข่บริเวณอ่าวในหุบของเกาะทะลุ อีก 1 รัง ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม พบเป็นรังที่ 4 ของปีนี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำการวัดขนาดลำตัว กว้าง 75 เซนติเมตร ยาว 82 เซนติเมตร ขนาดของหลุมกว้าง 21 เซนติเมตร ลึก 40 เซนติเมตร ซึ่งแม่เต่าวางไข่ทั้งหมด 170 ฟอง

316524372 445000107822683 885919287286033436 n
เต่ากระ”แม่ศรีสุดา”ขณะขึ้นวางไข่

เจ้าหน้าที่จึงทำการเคลื่อนย้ายรังไปยังบ่ออนุบาลของมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม เพื่อไปยังจุดอนุบาลและเพื่อเป็นการป้องกันภัยคุกคามทางธรรมชาติ เนื่องจากหลุมไข่เต่าตั้งอยู่บริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึง โดยมีมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยามเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเฝ้าระวังและเก็บข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง

316165103 445000124489348 3492575511231113004 n
เจ้าหน้าที่วัดขนาดลำตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เต่ากระ หรือ เต่าปากเหยี่ยว (อังกฤษ: Hawksbill sea turtle; ชื่อวิทยาศาสตร์: Eretmochelys imbricata) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลังชั้นสัตว์เลื้อยคลาน และเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Eretmochelys

316255749 445000071156020 5818188379242843866 n
วางไข่ 170 ฟอง

มีลักษณะคล้ายเต่าตนุ (Chelonia mydas) โดยที่เป็นเต่าทะเลขนาดกลาง มีลำตัวไม่ใหญ่มากนัก จะงอยปากแหลมงองุ้มคล้ายกับจะงอยปากของนกเหยี่ยว มีเกล็ดบริเวณหัวด้านหน้า 2 คู่ และเกล็ดบริเวณด้านข้างข้างละ 4 เกล็ด ลักษณะของกระดองมีลวดลายและสีสันสวยงาม ขอบกระดองเป็นหยักโดยรอบ ซึ่งในอดีตมักจะถูกนำไปทำเป็นเครื่องประดับและข้าวของต่าง ๆ เช่น หวี เมื่อโตเต็มที่ จะมีขนาดความยาวประมาณ 100 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 120 กิโลกรัม

“เต่ากระ” พบกระจายพันธุ์ในเขตอบอุ่นในมหาสมุทรทั่วทั้งโลก โดยมักอาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่งที่สงบเงียบไม่มีการรบกวน จากการศึกษาพบว่า เต่ากระกินทั้งได้พืชและสัตว์ โดยใช้ปากที่งองุ้มนี้กินทั้งสาหร่ายทะเล, หญ้าทะเล รวมทั้งสัตว์น้ำประเภทต่าง ๆ รวมถึงปะการังด้วยวางไข่บนชายหาดครั้งละ 150-250 ฟอง

จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 และจัดเป็น 1 ใน 4 ชนิดของเต่าทะเลที่พบได้ในน่านน้ำไทย

ทั้งนี้ เต่าทะเลเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เคยมีหลักฐานพบว่าอาศัยอยู่ทั่วไปในสมัย 130 ล้านปีก่อน นอกจากนั้นยังมีหลักฐานว่าเคยพบซากโบราณ (fossil) ก่อนหน้านั้นไม่น้อยกว่า 200 ล้านปี การแพร่กระจายของเต่าทะเล พบอยู่เฉพาะในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่น เต่าทะเลทั่วโลกพบอยู่ 7 ชนิดด้วยกัน คือ เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea) เต่าตนุ (Chelonia mydas) เต่าหลังแบน (Natator depressus) เต่ากระ (Eretmochelys imbricata), เต่าหัวฆ้อน (Caretta caretta) เต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea) และเต่าหญ้าแคมป์ (Lepidochelys kempi)

สำหรับในประเทศไทยพบเต่าทะเลเพียง 5 ชนิด คือ เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า และเต่าหัวค้อน โดยเต่าหัวค้อนไม่เคยพบขึ้นวางไข่ในประเทศไทยเลยตลอดระยะ 20 ปี ที่ผ่านมาเพียงแต่มีรายงานพบหากินอยู่ในน่านน้ำไทยเท่านั้น

การเดินทางเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเต่าทะเล เมื่อถึงเวลาพ่อและแม่เต่าทะเลจะว่ายน้ำจากแหล่งหากินอันแสนไกล เพื่อมาผสมพันธุ์และบรรจงเลือกแหล่งวางไข่ ณ ชายหาดอันเงียบสงบแล้วจากไป ปล่อยให้ลูกน้อยฟักออกมาเพียงลำพัง ลูกเต่าแรกเกิดซึ่งมีขนาดเล็กและมีกระดองที่ยังไม่แข็งแรง จะต้องรีบคลานจากหาดทรายในเวลาค่ำคืนลงสู่ทะเล และว่ายน้ำออกสู่ทะเลลึกเพื่อหลีกหนีศัตรูตามธรรมชาติอันมีมากมายบริเวณชายฝั่ง แม้กระนั้นก็ตามลูกเต่าเหล่านี้มีโอกาสรอดเพียง 1 ใน 1,000 ตัว ที่จะเจริญเติบโตเป็นพ่อแม่เต่าทะเลเพื่อสืบทอดอนาคตของชาติพันธุ์ต่อไป