รมช.ประภัตร ลงพื้นที่โคราช มอบโคในโครงการธนาคารโค- กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ

วันที่ 24 พ.ย. 65 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบโคในโครงการธนาคารโค – กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ พร้อมชี้แจงโครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร ณ วิทยาลัยเทคนิคปากช่อง อ.ปากช่อง และเทศบาลตำบลหนองไข่น้ำ อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมีนายวิวัฒน์ ไชยชอุ่ม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำประชาชน และเกษตรกรเข้าร่วม ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำโครงการธนาคารโค– กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ซึ่งเกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานโค – กระบือช่วยเหลือให้เกษตรกรมีปัจจัยการผลิตเป็นของตนเอง ไม่ต้องเสียค่าเช่าแรงงานโค-กระบือในการทำนาปลูกข้าว เป็นลักษณะของการอยู่ร่วมกัน พึ่งพากันตามธรรมชาติ การใช้แรงงานสัตว์ก็เป็นการเลือกใช้พลังงานจากธรรมชาติแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นทรัพยากรที่นับวันจะเหลือน้อยลงไป และมีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์หลายทางแก่เกษตรกร

316802061 575691897895723 9088097538327716331 n
มอบโคในโครงการธนาคารโค- กระบือ

“ในวันนี้มีความยินดีที่ได้ส่งมอบโคในโครงการฯ ดังกล่าว จำนวน 27 ตัว ให้แก่เกษตรกร 27 ราย ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีโค – กระบือเป็นของตนเอง ได้ใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อีกทั้งยังสามารถนำมูลโคไปใช้เป็นปุ๋ยคอก ช่วยลดรายจ่ายและทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการรวมกลุ่ม สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอีกด้วย” รมช.ประภัตร กล่าว

 

ในโอกาสนี้ รมช.ประภัตร ยังได้ชี้แจงและขอความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์และสนับสนุนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้เกษตรกร” โดยโครงการนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีวัตถุประสงค์เพื่อปล่อยสินเชื่อสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตร อาชีพนอกภาคเกษตร หรือการลงทุนค้าขาย เพื่อเสริมรายได้ในครัวเรือน เน้นอาชีพที่มีตลาดรองรับชัดเจน มีการประกันราคารับซื้อผลผลิต สามารถสร้างรายได้ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกินจำนวน 100,000 บาท แต่ต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายและหรือค่าลงทุนจริงของลูกค้าแต่ละราย

โดยสามารถยื่นความประสงค์ขอกู้ตามโครงการได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) ยื่นขอกู้เงินที่ธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาที่ตนเองมีภูมิลำเนาหรือที่ตั้งของโครงการ (Walk In) และ 2) ให้ผู้ขอกู้ลงทะเบียนยื่นขอสินเชื่อผ่านช่องทาง Line Official : BAAC Family และนัดหมายผู้ขอกู้ผ่านระบบนัดหมาย ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาเบื้องต้นได้ที่หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในภูมิลำเนา ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือสำนักงานประมงในท้องที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดตั้งธนาคารโค-กระบือ แต่ละแห่งจะเริ่มต้นด้วยสมาชิกอย่างต่ำสุด 10 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรยากจน อยู่ในพื้นที่ที่มีความเดือดร้อนในการหาโค-กระบือเพื่อมาใช้งาน คณะกรรมการหมู่บ้านจะเป็นผู้คัดเลือกผู้ที่มีฐานะยากจน มีความประพฤติดี ขยันหมั่นเพียรและไม่มีโค-กระบือของตนเอง จัดเรียงลำดับไว้ ธนาคารฯ จะจัดสรรโค-กระบือให้แก่ราษฎรในหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกไว้แล้วตามจำนวนโค-กระบือ ที่ธนาคารฯ มีอยู่ ซึ่งได้รับบริจาคจากประชาชนทั่วไป หรือจากงบประมาณของรัฐ ผู้ที่ยังไม่ได้รับโค-กระบือจากธนาคารฯ ในครั้งแรก ก็จะมีโอกาสได้รับในคราวต่อไป เมื่อธนาคารฯ มีโค-กระบือเพิ่มขึ้น

ธนาคารโค-กระบือในหมู่บ้านที่มีการบริหารและการจัดการโครงการที่ดี ก็จะเกิดผลประโยชน์เพิ่มพูนขึ้น ลูกโค-กระบือที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นของธนาคารโค-กระบือ ได้นำไปหมุนเวียนให้บริการแก่เกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไป การดำเนินงานในลักษณะนี้ ทำให้โครงการธนาคารโค-กระบือ เกิดผลประโยชน์ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด เกษตรกรได้รับบริการอย่างทั่วถึง โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก


ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากธนาคารโค-กระบือ นั้น ส่งผลโดยตรงกับตัวเกษตรกรที่ยากจน คือ ได้ช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถมีปัจจัยการผลิตเป็นของตนเอง ไม่ต้องเสียค่าเช่าแรงงานโค-กระบือ ในอัตราสูง เป็นหลักประกันอย่างหนึ่ง ซึ่งเอื้ออำนวยให้การผลิตเกิดผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนผลประโยชน์ทางอ้อมนั้น เกิดขึ้นจากการเลือกใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมในการพัฒนา เพราะแรงงานแบบดั้งเดิมนี้ เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับระบบเกษตรกรรมเบบยังชีพ ซึ่งเกษตรกรมีฐานะยากจน และมีพื้นที่ทำกินขนาดเล็ก แรงงานแบบดั้งเดิมนี้ ไม่ต้องการความรู้ทางเทคนิค วิชาการขั้นสูงใด ๆ ในการบำรุงรักษา การใช้แรงงาน โค-กระบือ ในการทำนา ปลูกข้าว เป็นลักษณะของการอยู่ร่วมกันและการพึ่งพากันตามธรรมชาติ เกษตรกรสามารถเรียนรู้ได้เองจากการดำรงชีพ