พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2565 พระยาแรกนาได้เสี่ยงทายหยิบผ้าได้4 คืบ น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ และพระโคกินน้ำ หญ้า ถั่ว และเหล้า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เวลาประมาณ 08.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต มายังพลับพลาที่ประทับ เพื่อเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2565 ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดีกรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา โดยเสด็จด้วย ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งเป็นการประกอบพระราชพิธีวันแรกที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ โดยประกอบพระราชพิธีในวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริม บำรุงขวัญเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก กำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสม ต้องตามประเพณี ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย
การจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ ฤกษ์การไถหว่านอยู่ในระหว่างช่วงเวลา08.19 – 08.49 น. ผู้ทำหน้าที่ พระยาแรกนา คือ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวณัฐชยา ศรีสุขสวัสดิ์ นักวิชาการปฏิรูปที่ดินชำนาญการพิเศษสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และนางสาวอาทิตยา ทองแกมแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวกันยารัตน์ เศวตนันทิกุล นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวชลธิชา ทองอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมปศุสัตว์ ผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย และคู่เคียงในกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา จำนวน 16 ราย ส่วนพระโคแรกนาขวัญ ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง
สำหรับผลการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ นายสมชวน รัตนมังคลานนท์รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ถวายรายงานการพยากรณ์ ผลการเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกายและพระโคกินเลี้ยงในปี พ.ศ.2565 นี้
“พระยาแรกนาได้ตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบได้ผ้านุ่ง 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ ผลการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโคพระโคกินน้ำ หญ้า ถั่ว และเหล้า ซึ่งผลเสี่ยงทายกล่าวว่า พระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี”
“พระโคกินถั่ว พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง”
หากย้อนหลังไปดูคำทำนาย จากการเสี่ยงทายในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พบว่า
ปี 2555 – วันที่ 9 พฤษภาคม พระโคฟ้า พระโคใส เลือกกินหญ้า
ปี 2556 – วันที่ 13 พฤษภาคม พระโคฟ้า พระโคใส เลือกกินข้าวโพด, หญ้า
ปี 2557 – วันที่ 9 พฤษภาคม พระโคฟ้า พระโคใส เลือกกินหญ้า, น้ำ
ปี 2558 – วันที่ 13 พฤษภาคม พระโคฟ้า พระโคเลิศ เลือกกินหญ้า
ปี 2559 – วันที่ 9 พฤษภาคม พระโคเพิ่ม พระโคพูล เลือกกินข้าว, เหล้า
ปี 2560 – วันที่ 12 พฤษภาคม พระโคเพิ่ม พระโคพูล เลือกกินข้าว, ข้าวโพด, หญ้า
ปี 2561 – วันที่ 12 พฤษภาคม พระโคพอ พระโคเพียง เลือกกินน้ำ, หญ้า, เหล้า
ปี 2562 – วันที่ 9 พฤษภาคม พระโคเพิ่ม พระโคพูล เลือกกินข้าว, น้ำ, หญ้า
ปี 2563 – วันที่ 11 พฤษภาคม “งดจัดพระราชพิธี” เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด 19 แต่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำพิธีหว่านข้าวในแปลงนาทดลอง สวนจิตรลดาและปี 2564 – วันที่ 10 พฤษภาคม “งดจัดพระราชพิธี” เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด 19 แต่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำพิธีหว่านข้าวในแปลงนาทดลอง สวนจิตรลดา